น้ำในเขื่อนลด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์รับได้ เฝ้าติดตามผลกระทบ เอลนีโญ-ลานีญา

เขื่อน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ   เผยสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบเอลนีโญและลานีญา ชี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เหตุปริมาณฝนน้อย หลายพื้นที่ปลูกข้าวเพราะราคาดี พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ   เปิดเผยถึงการติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ผ่าน Facebook Live กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และผลกระทบจากเอลนีโญและลานีญา ขณะนี้ เอลนีโญส่งผลกระทบต่อไทยมีแนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ แต่คาดว่าจะกลับมามีปัญหาเดือนเมษายน-มิถุนายนเป็นต้นไป

อีกทั้ง ปัญหาลานีญา จะกลับเข้าสู่ไทยในช่วงเดือนสิงหาคมอีกครั้ง ดังนั้นจากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินในครึ่งปีแรก จะมีผลกระทบเอลนีโญ และปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ ส่วนครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะเป็นลานีญา แนวโน้มปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติ

ดังนั้น มีความจำเป็นที่เราจะต้องรับมือสถานการณ์ทั้งภัยแล้งในช่วงนี้ และรับมือกับสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ที่อาจมีปริมาณมากและส่งผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการคาดการณ์ระยะไกล ทั้งนี้ ประชาชนยังไม่ต้องวิตกกังวล โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการรายงานสถานการณ์เป็นระยะ

ขณะนี้ ตั้งแต่ ต้นเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 67% ยังไม่ได้มีนัยยะสำคัญ ในการที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นหรือปริมาณน้ำลดลง  เนื่องจากฤดูแล้ง ปริมาณน้ำฝนจะน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งอุณหภูมิค่อนข้างที่จะสูงด้วย และช่วงนี้ไทยได้รับแรงกดอากาศสูงจากประเทศจีนปกคลุมอีกรอบ ทำให้อุณหภูมิลดลงแต่ก็ยังไม่มีผลกระทบนัก

Advertisment

ปริมาณน้ำในอ่าง

สถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเพื่อรองรับฤดูแล้ง ในปีที่ผ่านมาเราโชคดีมีร่องมรสุมที่พาดผ่าน ในหลายพื้นที่และหลายช่วงเวลาทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะนี้ ปริมาณที่มีอยู่มากถึง 72% ในขณะเดียวกัน น้ำใช้อยู่ที่ 61% อย่างไรก็ตาม จะประมาทไม่ได้ เพราะว่ายังอยู่ในช่วงของเอลนีโญ และในปี 2568 ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

ในช่วงฤดูแล้งนี้จึงมีมาตรการออกมา เพื่อรองรับสำหรับสถานการณ์เอลนีโญและฤดูแล้งโดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ส่วนแผนของการควบคุมการเพาะปลูก มองว่าจะไม่เป็นไปตามแผนเพราะว่าปีนี้ข้าวราคาดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาครัฐก็จะติดตามดูแล โดยนาปรังทั้งประเทศ 5.8 ล้านไร่ ปลูกไปแล้วถึง 6.73 ล้านไร่ ซึ่งถือว่าเกินจากแผน โดยเฉพาะในส่วนของลุ่มเจ้าพระยา 3 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการเพาะปลูกเกินแผน จะส่งผลต่อการใช้น้ำเกินกว่าที่คาดไว้

แผนการใช้น้ำ

สำหรับการวางแผนใช้น้ำทั้งประเทศอยู่ที่ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการจัดสรรน้ำให้อยู่ที่ 5,672 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีการใช้น้ำเกินจากแผนไปบ้างเล็กน้อยก็คือใช้ไปที่ 6,366 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังไม่ได้เกินแผนในภาพรวมทั้งหมดที่กำหนดไว้ในฤดูแล้งนี้

พื้นที่ที่มีการใช้น้ำเกิน เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนของภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออกยังไม่เกินแผนที่กำหนดไว้ในช่วงนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่เกินแผนภาพรวม เพราะว่ายังไม่ได้สิ้นสุดในฤดูแล้ง

Advertisment

ปริมาณน้ำแต่ละแห่ง

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มี 4 เขื่อนหลัก ขณะนี้ ในส่วนของเขื่อนภูมิพล เกินจากแผนที่กำหนดไว้ในช่วงนี้ไปอยู่บ้างเล็กน้อย คือเกินไปประมาณ 100 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์เกินไปจากแผนที่เรากำหนดไว้ในช่วงนี้ อยู่ที่ 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร บางอ่างเก็บน้ำมีเกินไปจากที่กำหนดไว้เล็กน้อย ขณะเดียวกัน เขื่อนขุนด่านปราการชล ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์

เขื่อนนฤบดินทรจินดา เกินจากแผนไปบ้างเล็กน้อย ลุ่มน้ำแม่กลอง เขื่อนวชิราลงกรณ ขณะนี้เกินแผนไปค่อนข้างมาก ในปัจจุบันนี้อยู่ที่ประมาณ 10% แต่ที่เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม เขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ก็ถือว่ายังมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก

ในส่วนของเขื่อนต่าง ๆ ยังเฝ้าระวัง ในกรณีที่มีน้ำน้อย และมีการใช้น้ำเกินแผน โดยเฉพาะที่เขื่อนสิริกิติ์ เกินแผนไปบ้างเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังไม่เกิน ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากนี้อ่างเก็บน้ำในแต่ละภาคซึ่งกระจายไปในหลายพื้นที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำและเขื่อนเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะบริหารจัดการเพื่อดูแลการอุปโภคบริโภคของประชาชนทุกพื้นที่เพื่อไม่ให้กระทบจากฤดูแล้งหรือขาดน้ำใช้