ทองคำฉุดส่งออกอัญมณีติดลบ สหรัฐกอดดอลลาร์ ผวาเศรษฐกิจซึม-เงินเฟ้อพุ่ง

ส่งออกอัญมณี

ทองฉุด “ส่งออกอัญมณี” 7 เดือนติดลบแล้ว 15% “เอกชน” ผวาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซ้ำ “วัตถุดิบขาด-ต้นทุนสูง” จี้รัฐบาลใหม่เร่งขยายตลาด หวังช่วยกู้วิกฤต

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ปี 2566 หดตัวลงถึง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปซึ่งมีสัดส่วนประมาณ​ 50% ปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยลง โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งนักลงทุนหันไปถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น ลดการถือครองทองคำ อย่างไรก็ตามยังคาดการณ์ว่าภาพรวมทั้งปี 2566 ส่งออกอัญมณีจะเติบโต 7-10%

สอดคล้องกับข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับลดลง 15.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป หดตัวลงถึง 34.95%

ทั้งนี้ แม้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยไม่รวมทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป จะเพิ่มขึ้น 9.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับ 5 เดือนก่อนหน้า ระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤษภาคม 2566 กลับมีมูลค่าลดลง 7.15% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2566

Advertisment

นายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงาน บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยปรับลดลง เป็นผลจากราคาทองสูงขึ้นจนทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้อำนาจในการจัดการเงินน้อยลง

บุญเลิศ สิริภัทรวณิช
บุญเลิศ สิริภัทรวณิช

“จากที่พูดคุยกับบริษัทผู้ค้าทองพบว่ามีพฤติกรรมการซื้อทองเปลี่ยน โดยเปอร์เซ็นต์ทองที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นทองคำ 14k ถึง 19k ที่มีปริมาณมากขึ้น ซึ่งในฐานะคนผลิตทองเรารู้สึกไหมว่า ทองขายได้น้อยลง เรารู้สึก แต่ทำไมการบริโภคถึงเท่าเดิม เพราะเราเข้าใจว่ายอดการซื้อในด้านการออมและการลงทุนมากขึ้น ขณะที่การใช้ทองในรูปพรรณจะน้อยลง”

นายบุญเลิศกล่าวว่า คาดหวังให้รัฐบาลช่วยขยายตลาดใหม่ ๆ อย่างตลาดนักท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาธุรกิจอัญมณีให้เป็นมากกว่าผู้รับจ้างผลิต (OEM) ช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ และช่วยกระจายความเสี่ยงในธุรกิจ

ขณะที่นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด และที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตอนนี้ ยอดขายฟื้นตัวเทียบเคียงกับช่วงก่อนโควิดได้แล้ว ธุรกิจฟื้นตัวหลังจากโควิดคลี่คลาย เพราะทางจีนเปิดประเทศเต็มที่ ทำให้มีกลุ่มพ่อค้าจีนสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก

Advertisment

“โควิดทำให้การส่งออกชะลอ 3 ปี แต่ตอนนี้สต๊อกของหลายประเทศเริ่มร่อยหรอ เลยมาหาวัตถุดิบสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงนี้ฟื้นดีขึ้น จากความต้องการในประเทศกลุ่มคู่ค้าเพิ่มขึ้น ทว่าในอนาคตอาจจะไม่มีการเติบโตในอัตราที่สูงนัก”

“เรื่องการค้าตอนนี้ไม่ได้เป็นห่วงมากเท่าปัญหาเรื่องวัตถุดิบอัญมณีที่จะกระทบต่อการเติบโตในอนาคต เพราะพลอยที่ไม่ใช่เครื่องประดับต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อาทิ แอฟริกา เมียนมา ซึ่งตอนนี้มีปริมาณไม่เพียงพอ เพราะเป็นวัตถุดิบที่เกิดจากธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง supply ขึ้น รวมถึงราคาของวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด อย่างทับทิมที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น 60%”

นายภูเก็ตกล่าวว่า รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่ติดท็อป 1 ใน 5 ของการส่งออก และบุคคลที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็น SMEs จึงหวังให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งการส่งออก การจัดงานแสดงโชว์สินค้า หรือสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามาในประเทศเยอะขึ้น ซึ่งตอนนี้บริษัทต่างชาติหลายรายก็เริ่มเข้ามาประมูลวัตถุดิบกันเยอะขึ้น

ภูเก็ต คุณประภากร
ภูเก็ต คุณประภากร

ขณะที่นายสารวุฒิ ดลสุขกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.วี.เอส.จิวเวลรี่ แฟคตอรี่ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้มีรายได้ฟื้นมาประมาณ 50% จากช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่ในครึ่งปีหลังนี้ ด้วยสภาพที่ต้นทุนของวัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้นทั้งตลาด บางรายการปรับขึ้นราคาเป็นเท่าตัว ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ในส่วนของยอดขายอาจจะลดลงอีก จากภาวะเงินเฟ้อทำให้ลูกค้าในหลายประเทศลดการจับจ่าย

สารวุฒิ ดลสุขกุล
สารวุฒิ ดลสุขกุล

โดยอาจจะซื้อเก็บเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่า อย่างยุโรป แม้ช่วงต้นปียอดขายจะฟื้นจากโควิด แต่พอครึ่งปีหลังยอดซื้อกลับลดลงเกือบ 30%