ปลูกพืชลดภาษีที่ดินได้ …ต้องปลูกไร่ละกี่ต้น

ปลูกกล้วย ต้นกล้วย สวนกล้วย
ภาพโดย M W จาก Pixabay

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษีในส่วนของผู้ใช้ที่ดินสำหรับทำการเกษตรไว้ในอัตราต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับผู้มีที่ดินว่างเปล่า ที่จะต้องเสียอัตราภาษีสูงมาก จึงเป็นแรงจูงใจทำให้ผู้มีที่ดินว่างเปล่าหันมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร เพื่อบริหารจัดการภาระภาษี ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้

แต่รู้หรือไม่ว่า การทำการเกษตรที่จะเข้าเกณฑ์ว่าเป็น ‘การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม’ ที่แท้จริงไม่ใช่การแอบอ้างเป็นเกษตรกรรมเพื่อลดภาษี จะต้องมีการปลูกพืชตามที่กฎหมายกำหนดสัดส่วนเอาไว้ว่าปลูกจำนวนเท่าไหร่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้นำข้อมูลตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 140 ตอนพิเศษ 55 ง ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 ระบุว่าตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจกรรม (ฉบับที่ 2) ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้แทนประกาศเดิมที่ออกเมื่อ ปี 2563

โดยประกาศใหม่ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมที่มีพืช ชนิดสัตว์ หรือลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามที่ปรากฏในประกาศบัญชีแนบท้าย ก. ระบุรายชื่อพืชรวมทั้งหมด 57 ชนิด กำหนดไว้ในอัตราตั้งแต่ 20 ไปจนถึง 400 ต้นต่อไร่ ตามตาราง (กราฟิก)

ยกตัวอย่างเช่น มะนาว 50 ต้นต่อไร่ มะม่วง 20 ต้นต่อไร่ กลุ่มส้ม กำหนดให้ปลูก 45 ต้นต่อไร่ หรือกล้วย 200 ต้นต่อไร่ กาแฟแล้วแต่สายพันธุ์ จะอยู่ที่ระหว่าง 170 ต้น สำหรับโรบัสต้าและ 400 ต้น สำหรับอราบิก้า และยางพาราอยู่ที่ 80 ต้นต่อไร่

Advertisment

ซึ่งจะต้องทำการเกษตรให้ได้ในอัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

ส่วนพืชที่ไม่ปรากฏรายชื่อตามบัญชีแนบท้ายนี้ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ โดยเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่สุด หยุดกรณีที่ไม่สามารถจะเทียบเคียงชนิดพืชที่ใกล้เคียงกันได้ก็ให้พิจารณาตามลักษณะการประกอบการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น

สำหรับอัตราภาษีที่ดินที่กำหนด สำหรับการประกอบเกษตรกรรม ตามมูลค่าที่ดิน มีดังนี้

• 0-75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.01% หรือคิดเป็นล้านละ 100 บาท

Advertisment

• 75-100 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.03% หรือคิดเป็นล้านละ 300 บาท

• 100-500 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.05% หรือคิดเป็นล้านละ 500 บาท

• 500-1,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.07% หรือคิดเป็นล้านละ 700 บาท

• 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือคิดเป็นล้านละ 1,000 บาท

แต่หากไม่สามารถปลูกได้ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ ก็เท่ากับเป็นเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีในอัตราตามเรตราคาที่ดิน ดังนี้

• 0-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.3% หรือคิดเป็นล้านละ 3,000 บาท

• 50-200 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.4% หรือคิดเป็นล้านละ 4,000 บาท

• 200-1,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.5% หรือคิดเป็นล้านละ 5,000 บาท

• 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.6% หรือคิดเป็นล้านละ 6,000 บาท

• 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.7% หรือคิดเป็นล้านละ 7,000 บาท

เมื่อเห็นถึงความแตกต่างขนาดนี้ จากนี้เชื่อว่าคงมีหลายคนที่หันไปปลูกพืชเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นแน่