อีอีซี เตรียมออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ รวบอำนาจการอนุมัติอนุญาตให้จบที่เดียว

จุฬา สุขมานพ
จุฬา สุขมานพ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เผย (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกระยะ 2 สตาร์ตปี 2566-2570 เปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอรัฐบาลใหม่ รวบอำนาจการอนุมัติและอนุญาต ครอบคลุมทั้งการก่อสร้าง ตั้งโรงงาน รวมถึงวีซ่า ภายใต้กฎหมายลูก 44 ฉบับ เอาใจนักลงทุนให้จบที่เดียว พร้อมเปิดแผนจีบนักลงทุนผุดแพ็กเกจให้เฉพาะราย เอาเจ๋งแลกเจ๋ง อัดสิทธิประโยชน์ให้เต็มที่

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ. 2566-2570 ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ได้มีการกำหนดกรอบของแผนงานหลักไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี
  2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
  3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ
  5. เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน

โดยอีอีซีได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งในแผนดังกล่าวยังมีการเตรียมเรื่องของการออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ทั้งเรื่องของการออกใบอนุญาตสิ่งปลูกสร้าง ตั้งโรงงาน หรือแม้แต่เรื่องวีซ่า คล้าย Long-Term Resident Visa (LTR) ของบีโอไอ แต่จะแตกต่างตรงระยะเวลาและเงื่อนไขที่ชัดเจนกว่า

โดยให้อำนาจของอีอีซีพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้เลย เนื่องจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เปิดช่องไว้ให้ ซึ่งแม้จะให้อำนาจเหล่านี้ แต่ในเรื่องของค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะส่งกลับไปให้หน่วยงานที่เคยเป็นผู้ออกใบอนุญาตนั้น ๆ

Advertisment

“มันเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมให้กับนักลงทุน เหมือนการมีทางด่วนให้เขาถ้าเขามายื่นที่เรามันก็จะเร็ว เราจะทำให้มันชัดเจนว่าที่คุณขอเรื่องนี้มาต้องใช้เวลากี่วัน ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง มันเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด”

นอกจากนี้ ในแผนดังกล่าวยังจะทบทวนเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ให้กับนักลงทุน โดยการตั้งเงื่อนไขการเจรจาเฉพาะรายแลกกัน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น กรอบของสิทธิประโยชน์จะขอกำหนดไว้ที่การยกเว้นภาษี 15 ปี แม้จะสูงกว่าบีโอไอ แต่อยู่ที่ข้อแลกเปลี่ยน ว่าอุตสาหกรรมรายนั้น ๆ ให้อะไรกับไทยบ้าง อย่างถ้าจะได้ 15 ปี ต้องเปิดให้คนไทยถือหุ้น 20% เป็นต้น

สำหรับ (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี (2566 -2570) ปัจจัยสำคัญจะพิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก

อีอีซีได้สร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุง (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี ให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

Advertisment

สำหรับการดำเนินงานแผนภาพรวมฯ อีอีซี ระยะที่ 1 (2561-2565) ที่ผ่านมา ซึ่งได้เน้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งด้านคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน สร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

เกิดมูลค่าการลงทุนที่อนุมัติแล้วสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ เอกชน (4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก) 661,012 ล้านบาท มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) 1,250,305 ล้านบาท และงบฯบูรณาการอีอีซี 70,271 ล้านบาท