รู้จักศูนย์สร้างสรรค์ TCDC นำร่อง 10 จังหวัด CEA ขานรับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA

รู้จักศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) นำร่อง 10 จังหวัด ขานรับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ สนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับท้องถิ่น

สืบเนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ประกาศเปิดตัว “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) แห่งใหม่ใน 10 จังหวัด สนับสนุนทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ระดับท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์นโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” ประกอบด้วย เชียงราย นครราชสีมา ปัตตานี พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต ศรีษะเกษ สุรินทร์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC นำร่องใน 10 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นช่องทางให้ผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ เข้าถึงโอกาสและตลาดงานในอตุสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับฐานรากจนกระทั่งออกสู่ตลาดโลก

TCDC มีมานานแล้ว

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทย) ในปี 2548 หรือ 18 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561

โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม บนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อมสำหรับการก้าวสู่อนาคต

Advertisment

ปัจจุบันมีศูนย์ TCDC เปิดให้บริการใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ TCDC กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยจะเปิดให้บริการศูนย์ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา ในปี 2568 ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค พร้อมกันกับ TCDC นำร่อง 10 จังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้น

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)-  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

CEA นำร่อง 10 จังหวัด ขานรับนโยบาย

“ดร.ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในโอกาสที่ TCDC จะครบรอบการก่อตั้ง 20 ปี เป็นจังหวะพอดีกันกับที่รัฐบาลมีนโยบายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อย่างชัดเจน ซึ่งต้องพัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม เพื่อออกสู่ต่างระดับโลก

โดยกลไกทั้งสี่จะเชื่อมโยงกันได้จำเป็นต้องมี Learning and Information Center ซึ่งที่ผ่านมา TCDC อาจเป็น Creative Center ที่เน้นเพียงการออกแบบ แต่อันที่จริงไม่สามารถเน้นการออกแบบเพียงอย่างเดียวได้ ต้องมีทั้งการเรียนรู้ การพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นสินค้าและบริการต่อไป

Advertisment

“เป็นจังหวะดีมากที่รัฐบาลมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ออกมาชัดเจน เนื่องจาก CEA มีแผนจะขยาย TCDC อยู่แล้ว สอดคล้องกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ พอดี”

สำหรับการดำเนินงานของ TCDC แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย

  1. Learning Development หรือการพัฒนาการเรียนรู้ ไม่ว่าจะผ่านการอ่านหนังสือ การสืบค้นคลังข้อมูล การจัดนิทรรศการ ตลอดจนการสัมมนาที่จะจัดเป็นระยะ
  2. Local Asset Development เมื่อมีสกิล ข้อมูล และการเรียนรู้แล้ว ต้องสกัดอัตลักษณ์ในพื้นที่อออกมา เพื่อนำเสนอเป็นต้นทุนในการพัฒนาต่อไป
  3. Product-Service Development คือการนำอัตลักษณ์ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นสิ้นค้าและบริการผ่าน Creative Lab
  4. Creative Lab เป็นโซนหนึ่งใน TCDC เพื่อการทดลอง-ทดสอบการเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการออกมาสู่ตลาด
  5. Content and Market Development คือการทำคอนเทนต์เพื่อขายสินค้าและบริการที่ได้มา โดยจะมีสตูดิโอเล็ก ๆ ให้คนในพื้นที่ใช้สำหรับถ่ายทำ มีการเชื่อมโยงกับตลาด-ผู้ซื้อ ด้วยการจัดนิทรรศการ โชว์เคส เช่น ตั้งศูนย์ TCDC มาแล้ว 6 เดือน จะมีการจัดงานเทศกาลนำเสนอผลงานจากจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งผู้ซื้อที่เข้ามาจะมีทั้ง B2C (การค้าขายระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค) หรือ B2B (การซื้อขายระหว่างองค์กร) ที่มีการซื้อในปริมาณที่มาก ดร.ชาคริต กล่าว

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)-  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

ท้องถิ่นให้ความสนใจ

ดร.ชาคริต กล่าวอีกว่า การนำร่องศูนย์ TCDC 10 จังหวัดในครั้งนี้ เกิดจากการเปิดคัดเลือกและให้จังหวัดต่าง ๆ สมัครเข้ามา ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานส่วนท้องถิ่นโดยจะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้

คระกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย CEA หน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องรวม 7 หน่วยงาน เนื่องจากศูนย์ TCDC เกี่ยวเนื่องกับทั้งการศึกษา องค์ความรู้ การอบรมผู้ประกอบการ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกต้องพิจารณา “สินทรัพย์ของเมือง” เป็นหลัก (เมืองนั้นมีของดีอะไร) และ “นักสร้างสรรค์ในพื้นที่” เนื่องจากการดำเนินงานของ TCDC ภายใต้ CEA ต้องมีผู้ขับเคลื่อน รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านงบประมาณหรือนโยบาย แต่ผู้ที่ขับเคลื่อนจริง ๆ คือนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ หากนำงบประมาณลงไปแล้วไม่มีผู้ขับเคลื่อนหรือไม่มีเครือข่ายเพียงพอจะไม่เกิดอะไร

เกณฑ์การคัดเลือกอีกด้าน คือ “โครงสร้างพื้นฐาน” ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์ต้องเหมาะสมที่จะดึงดูดผู้คน ไม่ใช่อยู่ลึกหรือเข้าถึงยาก เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้มาจาก “Creative City Index” ที่ใช้กันทั่วโลกในการวัดศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของเมือง

“เราต้องการการพัฒนาในระยะยาวไปด้วยกัน ดังนั้น ต้องเป็นความตั้งใจของท้องถิ่นเองที่จะทำ”

ดร.ชาคริต ระบุว่า มีหน่วยงานส่วนท้องถิ่นส่งเข้าสมัครรับคัดเลือกทั้งสิ้น 24 จังหวัด รวม 31 พื้นที่ เนื่องจากบางจังหวัดมีผู้เสนอมากกว่า 1 หน่วยงาน สะท้อนให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคประชาชนต่างให้ความสนใจ

ปัจจุบัน หลังจากประกาศรายชื่อทั้ง 10 ไปแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบสถานที่ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครเช่นกัน ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการช่วงปลายปีหน้า สำหรับ 10 จังหวัดนำร่องที่ได้รับคัดเลือก ความพร้อมของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเข้าถึงง่ายและเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน พ่อค้า-แม่ค้า ตลอดจนนักธุรกิจ ดร.ชาคริต กล่าว

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)-  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

มีแพลตฟอร์ม พร้อมยืดหยุ่น

ดร.ชาคริต กล่าวว่า ปกติแล้วส่วนกลางจากกรุงเทพฯ จะเป็นผู้บริการจัดการ แต่ TCDC เป็นโมเดลใหม่โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ (จ่ายค่าพนักงาน ระบบสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ) กล่าวคือ จังหวัดจะเป็นเจ้าของพื้นที่เอง ส่วน CEA จะอำนวนความสะดวกและสนับสนุน ตกแต่งศูนย์ ให้คำปรึกษา นำนิทรรศการไปจัด นำคอนเทนต์ สัมมนา เวิร์กช็อป และนำทรัพยากร (Resource) ต่าง ๆ ไปลงในพื้นที่ ภายใต้การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี

ความน่าสนใจของโครงการนี้คือ “การคิดแบบแพลตฟอร์ม แต่ปรับตัวให้ได้ตามบริบท” กล่าวคืน แพลตฟอร์มต้องมีความชัดเจน แต่ยืดหยุ่นเพื่อให้เข้ากันได้กับบริบทในพื้นที่ เพราะความคิดจากส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถนำไปใช้กับบริบทในพื้นที่ได้ เนื่องจากอาจไม่เข้ากับเมือง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่น แม้ทำได้แต่จะไม่ยั่งยืน แนวคิดดังกล่าวจึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อยืดหยุ่นต่อสินทรัพย์หรือเงื่อนไขใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในพื้นที่

“การนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในพื้นที่ จะช่วยระเบิดพลังในพื้นที่ให้มีโอกาส TCDC ไม่ได้เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมด แต่จะเข้าไปเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจอีกอันหนึ่งที่พาคนเดินไปข้างหน้า และทำให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยมีภาคประชาชนและภาครัฐในพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อน เพราะ Mindset ของคนกรุงเทพฯ ไม่เข้ากันกับพื้นที่”

สำหรับการนำร่อง 10 จังหวัด เปรียบเสมือนการทดสอบ เรียนรู้ และเข้าใจในแต่ละจังหวัด ซึ่งสำคัญมาก เพราะแต่ละเมืองจะแตกต่างกัน บางจังหวัดอาจเน้นเรื่องอาหาร ดนตรี หรือคอนเทนต์ ซึ่ง CEA ต้องเข้าไปผนึกกำลังกับหน่วยงานในพื้นที่

สิ่งที่ต้องระวังคือการจัดอีเวนต์ โดยต้องใช้อีเวนต์ในเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ ต้องเห็นพัฒนาการในแต่ละปีที่จัด ไม่ได้กลับไปเริ่มจัดใหม่ในทุก ๆ ปี ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่เห็นการเติบโต ดังนั้น อีเวนต์เชิงยุทธศาสตร์จะต้องมี รายละเอียดของการวางยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการสินทรัพย์ในพื้นที่ให้เติบโต เช่น การจัดอีเวนต์ต่างในย่าน “เจิรญกรุง-ตลาดน้อย” ที่ปัจจุบันได้รับความนิยม ย้อนกลับไป 5 ที่แล้วย่านนี้เงียบเหงาและแตกต่างจากปัจจุบันมาก เป็นต้น

“CEA พร้อมจะสนับสนุนและแบ่งปันองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่มีแม่แบบเพราะสิ่งที่ทกำลังทำคือของใหม่ อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ต้องรีบผิด และรีบเรียนรู้ไปข้างหน้า ถ้าทำได้เมื่อไร จะสามารถยืนระยะไปได้ สิ่งนี้เป็นแก่นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่”

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

ภูเก็ตพร้อมนำเสนอทุนทางวัฒนธรรม

“นายเรวัต อารีรอบ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภูเก็ตตั้งความหวังและความฝันเอาไว้ว่าต้องทำให้ศูนย์ TCDC เกิดขึ้นในจังหวัดให้ได้ เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนามนุษย์ และมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ อีกทั้ง จังหวัดภาคใต้ฝั้งอันดามันยังไม่เคยมีศูนย์ TCDC มาก่อน

ประชากรในจังหวัดจังหวัดภูเก็ตมีรากเหง้าที่หลากหลาย ไมว่าจะเป็นผู้อพยพจากประเทศจีน อินเดีย ตลอดจนชาวมุสลิม และชาวไทย เป็นต้น ซึ่งต่างนำวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาที่ภูเก็ต ทำให้ภูเก็ตมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก เช่น การมีสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส การแต่งกายบ้าบ๋า ย่าหยา อาหารการกิน ตลอดจนสมุนไพรไทย-จีน เป็นต้น

“TCDC จะเป็นการเพิ่มทักษะ ยกระดับเมือง และเพิ่มรายได้ของเมืองอย่างยั่งยืน เชื่อว่านักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงอายุ จะได้รับความรู้จากศูนย์นี้ จะมีการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในแต่ละเรื่องไว้ในศูนย์แห่งนี้ด้วย คนรุ่นใหม่ในภูเก็ตรอคอยศูนย์ TCDC มานาน เนื่องจากตอนสมัครรับเลือกตั้งมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าภูเก็ตควรจะมีศูนย์นี้”

นอกจาก TCDC จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางศรษฐกิจในภูเก็ตอย่างมหาศาล จะยังเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ด้วย และเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ตลอดจนจะเป็นรากเหง้าสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองต่อไป

ความโชคดีของจังหวัดภูเก็ตคือการมีอาคารอยู่เล้ว โดยกรมธนารักษ์มอบอาคารสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ให้ในพื้นที่กว่า 6 ไร่ บนตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และเป็น ซึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี ความสวยงามของอาคาร พื้นที่จอดรถ และทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในจุดท่องเที่ยว จะเป็นแรงจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการ และทำให้ศูนย์ TCDC กลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด นายเรวัตกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง