Thailand Healthcare 2024 มัดรวม 3 เทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อผู้สูงวัย

(จากซ้ายไปขวา) ผู้ดำเนินรายการ, ไพศาล สุขจรัส, ศิรสิทธิ์ สัจเดว์, สกล สัจเดว์ และนายแพทย์ธนกร ยนต์นิยม
(จากซ้ายไปขวา) ผู้ดำเนินรายการ, กิตติ์รวี ศิวัฒน์กิตติสุข, ศิรสิทธิ์ สัจเดว์, สกล สัจเดว์ และนายแพทย์ธนกร ยนต์นิยม

“Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” ชวนรู้จัก 3 เทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อผู้สูงวัย “ไม้เท้าอัจฉริยะ-การดูแลผู้ป่วยระยะทางไกลอย่างไร้รอยต่อ-แอปพลิเคชั่น Dr.ARSA”

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 วันสุดท้ายแล้วสำหรับ “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งจัดโดยการผนึกกำลังกันระหว่าง “มติชน” และพันธมิตรด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 27-30 มิถุนายน 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ภายในงาน คือ Special Talk ในหัวข้อ “Health Tech มัดรวม 3 เทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อผู้สูงวัย” ร่วมบรรยายโดย “ศิรสิทธิ์ สัจเดว์” และ “สกล สัจเดว์” ประธานบริษัท เทค แคร์ ซิสเตม จำกัด ผู้ผลิตไม้เท้าอัจฉะริยะ, “กิตติ์รวี ศิวัฒน์กิตติสุข” Chief Digital Officer (CDO) บริษัท เบดเดอลี่ จำกัด ที่มากับระบบนิเวศการดูแลผู้ป่วยระยะทางไกล อย่างไร้รอยต่อ และ “นายแพทย์ธนกร ยนต์นิยม” Co-CEO & Chief Medical Officer บริษัท ด๊อกเตอร์อาสา เฮลท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Dr.ARSA

ไม้เท้าอัจฉริยะ ช่วยสูงวัย

สกล สัจเดว์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีดำเนินไปอย่างรวดเร็วและอยู่รอบตัวของทุกคน ผู้สูงวัยต่างเล่นสมาร์ทโฟน ใช้แอปลิเคชั่นต่าง ๆ โดยสิ่งที่อยากนำเสนอ คือ ไม้เท้าอัจฉริยะ

ไม้เท้าทั่วไป เป็นอุปกรณ์เพียงช่วยพาผู้สูงอายุจากที่หนึ่งไปอักที่หนึ่งเท่านั้น หรืออย่างมากก็มีไฟฉาย ซึ่งไม่สามารถบอกสถานะของสุขภาพได้ แต่ไม้เท้าของ เทค แคร์ ซิสเตม มีเซ็นเซอร์ที่สามารถบอกได้ว่าสุขภาพของผู้สูงอายุขณะนั้นเป็นอย่างไร ทั้งอัตราการเต้นหัวใจ ความดัน ออกซิเจนในเลือด ฯลฯ ซึ่งจะถูกส่งไปยังแอปพลิเคชั่นที่สามารเห็นได้ทั้งผู้ดูแลและตัวผู้สูงอายุเอง 

Advertisment

ปัญหาที่พบโดยทั่วไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นกับผู้สูงอายุคือการเข้าถึงที่ค่อนข้างช้า อีกทั้งต้องรอข้อมูลก่อนจะถึงเเพทย์ ดังนั้น ไม้เท้าอัจฉริยะจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยบอกข้อมูลให้แพทย์ชี้วัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้สูงอายุก่อนล้มลง 

“ไม่ควรมองว่าไม้เท้าเป็นสิ่งบ่งบอกว่าเราอายุเยอะ แต่ไม้เท้าเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เลวร้ายมากขึ้น ทุกอย่างจะเเจ้งเตือนที่โทรศัพท์ เทคโนโลยีถูกมัดรวมกันที่ไม้เท้านี้อันเดียว”

เมื่อคิดนวัตกรรมออกมาแล้ว เชื่อมั่นได้เลยว่าสิ่งที่ทำนั้นทำเพื่อผู้สูงอายุทุกคน เพื่อสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ และอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าไม้เท้าจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับตัวเราไปเรื่อย ๆ สกล สัจเดว์ กล่าว

ด้าน ศิรสิทธิ์ สัจเดว์ กล่าวว่า ก่อนเริ่มทำไม้เท้าอัจฉริยะ จะมีคำถามทุกครั้งหลังผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นซึ่งไม่มีใครรู้ จึงเกิดการคิดค้นว่าจะใช้ชีพจรอย่างไรเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

Advertisment

จึงเกิดการใส่โมดูลเข้าไปในไม้เท้าอัจฉริยะเพื่อการวัดชีพจร วัดความดัน บอกตำแหน่ง และเเจ้งเตือนในกรณีฉุกเฉิน ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อได้กับแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของผู้ดูแล

ไม้เท้าอัจฉริยะต่างจากนาฬิกาอัจฉริยะอย่างไร ศิรสิทธิ์ สัจเดว์ ตอบว่า นาฬิกานั้นแบตเตอรี่ไม่สามารถอยู่ได้นาน ส่วนไม้เท้าอัจฉริยะแบตเตอรี่อยู่ได้ 7-14 วันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และการวัดค่าต่าง ๆ ของนาฬิกานั้นไม่ได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ ที่สำคัญข้อมูลหรือค่าต่าง ๆ ที่วัดได้จากไม้เท้าจะถูกส่งไปยังผู้ดูแลด้วย ไม่ได้อยู่เฉพาะตัวผู้ใช้เหมือนนาฬิกา

ด้วยความที่ เทค แคร์ ซิสเตม เป็นผู้ผลิตไม้เท้าอัจฉริยะรายเดียวในโลก และมีสิทธิบัตรอยู่ในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ ทำให้สามารถควบคุมมาตรฐานของเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดค่าต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญยังมีการสื่อสารผ่านซิมโมดูล ไม่ว่าผู้ดูแลหรือลูกหลานจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็สามารถทราบสถานะของผู้สูงอายุในขณะนั้นได้ตลอดเวลา

“หากผู้สูงอายุล้มลง จะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลทราบและตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นการล้มลงจริงหรือไม่ ต้องเรียกรถโรงพยาบาลหรือไม่ หรือแค่ไม้เท้าล้มลงเองอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม ไม้เท้าได้รับการออกแบบให้สามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเองเพื่อลดการผิดพลาด หากผู้สูงอายุล้มลงจะมีระบบที่สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้เพื่อให้รถพยาบาลเข้ามาข่วยเหลือ โดยมีการระบุตำแหน่งไว้แบบเรียลไทม์ ศิรสิทธิ์ สัจเดว์ กล่าว

กิตติ์รวี ศิวัฒน์กิตติสุข, ศิรสิทธิ์ สัจเดว์ และสกล สัจเดว์

พบแพทย์ทางไกล

กิตติ์รวีกล่าวว่า บริษัท เบดเดอลี่ เลือกเจาะลึกไปที่การแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเฮลท์ เมดิซีน จากสถิติสะท้อนว่า ตลาดเทเลเฮลท์ เมดิซีน กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยเองที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการสนับสนุนจากภารรัฐและเอกชน ส่วนภาคประชาชนเองก็ต้องการที่จะได้รับการบริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น 

ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย มีโรงพยาบาลปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ทั้ง 3 ประเภทรวมกันทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลกว่า 12,000 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์ใหญ่ว่าบุคลากรทางแพทย์นั้นไม่เพียงพอ ในประเทศไทยแพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วย 2,000 คน ซึ่งเกณฑ์กว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วย 1,000 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ระบบข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่ได้ทำเป็นดิจิทัลฟอร์แมต ทำให้เมื่อไปรักษาต้องกรอกประวัติข้อมูลซ้ำ ๆ ในแต่ละโรงพยาบาล 

โดยเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยระยะทางไกล อย่างไร้รอยต่อ จะสามารถช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ โดยสามารถพบแพทย์ผ่านเทเลเฮลท์ เมดิซีน ได้เลย ไม่ต้องเดือดร้อนลูกหลานหนือคนรอบตัวให้พาไปโรงพยาบาล และไม่ต้องไปรอพบแพทย์เป็นเวลานาน ๆ 

กิตติ์รวีกล่าวว่า การแพทย์ทางไกลแบบไร้รอยต่อ ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่จำหน่ายอยู่ 4 รายการ ได้แก่ Smart Bed, Smart Mattress, Point of health และ Portable Vital sign

โดยนวัตกรรมที่สามารถทำการแพทย์ทางไกลได้ คือ Point of health และ Portable Vital sign โดย Portable Vital sign และใช้สำหรับที่อยู่อาศัย ส่วน Point of health จะอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล

นวัตกรรมทั้งสองสามารถวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ ได้ เช่น ความดัน ออกซิเจนในเลือด และอื่น ๆ เมื่อวัดค่าต่าง ๆ แล้ว จะมีการเชื่อมโยงไปยังระบบโรงพยาบาล เพื่อนำข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้เพื่อการรักษาต่อไป 

นวัตกรรมดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เพียงไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้านพร้อมบัตรประชาชน จากนั้นทำตามขั้นตอนโดยจะมีอาสาสมัครคอยช่วยเหลือ เมื่อได้ค่าต่าง ๆ ก็สามารถทำเทเลเมดิซีนกับแพทย์ต่อได้ เป็นการลดระยะเวลาของแพทย์ และผู้ป่วยเอง กิตติ์รวีกล่าว

Dr.ARSA พบแพทย์เลือกค่าใช้จ่ายเอง

นายแพทย์ธนกรเผยว่า Dr.ARSA เริ่มต้นจากการระบาดของโควิด-19 ในระยะเเรก ซึ่งผู้ป่วยหลายคนไม่มีที่รักษา ทำให้ตนสร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับประชาชนฟรีผ่านทางเทเลเมด และจัดส่งยาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง แต่คนไข้ที่อยู่ในคอมมูนิตี้อยากให้ช่วยพัฒนาเทคโนโลยรเเละช่วยให้ความรู้ต่อ จึงเกิดการต่อยอดเป็น Dr.ARSA มาจนปัจจุบัน เนื่องจาก ผู้คนในคอมมิวนิตี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประกอบกัน นายแพทย์ธนกรเองเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรั้ง (Non-Communicable Diseases หรือ NCD) เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ฯลฯ

Dr.ARSA เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมกับแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำทางการแพทย์ที่ถูกต้องสำหรับทุกคนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

นายแพทย์ธนกร ยนต์นิยม

“จุดเด่นของเราคือเป็นหมอทำเอง อยากให้ทุกคนมองการหาหมอเป็นเรื่องง่าย ๆ อยากให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

ที่สำคัญ ผู้ใช้บริการทุกคนสามารถทำหนดราคาเองได้ ซึ่งแพทย์จะทำการจัดยา วิตามิน อาหารเสริมให้ตามราคาที่ผู้ใช้บริการตั้งไว้ ซึ่งเป็นการจัดให้เฉพาะบุคคล และคัดสรรคุณภาพยาแล้วโดยแพทย์

ตัวอย่างเช่น การตรวจผลเลือด เพียงอัพโหลดผลเลือดเข้าไปในระบบ ระบบก็จะแปลออกมาอัตโนมัติทันทีว่าเกณฑ์สุขภาพเป็นอย่างไร พร้อมมีคำแนะนำด้วยว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร รับประทานอาหารอย่างไร การออกกำลังกายอการใช้ยา อาหารเสริม เป็นต้น 

สำหรับวิธีการใช้ Dr.ARSA ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น เพียงเข้าแอปพลิเคลั่นไลน์และค้นหาว่า “@drasa” ก็สามารถเข้าใช้บริการได้แล้ว

นายแพทย์ธนกรกล่าว อยากให้ผู้สูงอายุคิดว่า Dr.ARSA เป็นหมอประจำตัวของทุกคน เพราะสามารถปรึกษาหมอได้ตลอดเวลา ทั้งวางแผนสุขภาพ สอบถามเรื่องการกินยา หรือแนวทางการรักษาต่าง ๆ 

“การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่การหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตนั้นเหมาะสมกับเราจริงหรือไม่…ถ้าปรึกษาหมอก็จะสามารถวางแนวทางการรักษาหรือการออกกำลังกายให้เลย”

ปัจจุบัน Dr.ARSA มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาไปที่โรค NCD ซึ่งผู้สูงอายุเป็นกันมากที่สุด โดยในอนาคตจะมีการขยายการปรึกษาและรักษาไปในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเลือด หรือโรคมะเร็งอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้แม่นยำมากขึ้นเพื่อให้เจาะลึกถึงการแพทย์ระดับบุคคล

“ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หมออยากให้ทุกคนเปิดใจรับและลองใช้ เชื่อว่าการได้ใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพจะส่งผลดีต่อเราแน่นอน” นายแพทย์ธนกรกล่าว