อ.วันชัย แนะจัดการมรดกวัยเกษียณ อย่าเซ็นค้ำให้ใคร-ทำพินัยกรรมสำคัญ

อ.วันชัย

อ.วันชัย สอนศิริ แนะกฎหมายที่ควรรู้และการจัดการมรดกวัยเกษียณ ระวังการทำนิติกรรมสัญญา-อย่าเซ็นค้ำให้ใคร-พินัยกรรมสำคัญ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 งาน “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งจัดโดยการผนึกกำลังกันระหว่าง “มติชน” และพันธมิตรด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 27-30 มิถุนายน 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตร

หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ภายในงานวันนี้ คือ Special Talk “กฎหมายที่ควรรู้ และการจัดการมรดกวัยเกษียณ” โดย “อ.วันชัย สอนศิริ” ซึ่งมีวัยเก๋ามาร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ไม่ชัวร์อย่าเซ็น

อ.วันชัย เริ่มต้นการบรรยาเกี่ยวกับเรื่องการนำนิติกรรมสัญญากับผู้สูงอายุ โดยระบุว่า ผู้สูงวัยต้องระมัดระวังในการเซ็นเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นการทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ บางคนอ่านแล้วไม่รู้เรื่องแต่ก็ยอมเซ็น อาจทำให้ผู้สูงวัยหมดเนื้อหมดตัวได้

ฉะนั้น ในการทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ หากอ่านแล้วไม่รู้เรื่องหรือไม่เข้าใจ อย่าเซ็นโดยเด็ดขาด ต้องไปปรึกษาผู้รู้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเซ็น

Advertisment

“แม้แต่ลูกก็โกงพ่อโกงแม่มาเยอะแล้ว คนที่จะโกงเรามากที่สุดคือคนใกล้ตัว บางทีลูกทำเอาพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัว” แม้แต่หนังสือมอบอำนาจที่จะยอมให้ลูกไปทำนิติกรรมใด ๆ อย่าเซ็นกระดาษเปล่าโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นคดีความมามากแล้ว เช่น เรื่องที่ดิน รังวัด หรือทรัพย์สินต่าง ๆ สุดท้ายอาจกลายเป็นของลูกไป

ที่สำคัญ ผู้สูงอายุอย่าเที่ยวไปเซ็นค้ำประกันให้ใครโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันซื้อรถ การค้ำประกันเงินกู้ หรือค้ำประกันค่าบ้านก็ตาม

“คนอายุ 65-70 ปี ไปเที่ยวเซ็นค้ำประกัน อย่าทำโดยเด็ดขาด ค้ำประกันซื้อรถ ค้ำประกันกู้บ้าน เอาชื่อเราไปทำนิติกรรมอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ อย่าใจดี”

การเซ็นค้ำประกันยังรวมถึงการเซ็นค้ำประกันเพื่อเข้าทำงานด้วย อาจเซ็นให้ลูกและภรรยาได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นห้ามเซ็นโดยเด็ดขาด เพราะหากคน ๆ อาจนั้นอาจเข้าไปทำงานและไปทุจริตหรือไปยักยอกเงินก็ได้ จะมองว่าใจดำก็ได้ แต่ห้ามเซ็นค้ำประกัน “อายุมากแล้ว อย่าเที่ยวค้ำประกันใครส่งเดช”

Advertisment

อ.วันชัย

นอกจากนี้ การปล่อยกู้ก็ใช่กัน ผู้สูงอายุบางคนมีเงินเก็บ ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ อาจมองว่าใช้ไปเงินก็ลดลงเรื่อย ๆ จึงอยากต่อยอดเงินด้วยวิธีการปล่อยกู้

อ.วันชัย ระบุว่า จากการเป็นทนายมา 40 ปี มีการฟ้องร้องคดีความจากการปล่อยกู้มากมาย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องมากกว่าทั้งเงินต้นที่ปล่อยกู้และดอกเบี้ยรวมกันเสียอีก ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ควรเก็บเงินไว้ และไปลงทุนที่เกิดความนั่นคงดีกว่า

การมีคดีความตอนอายุ 68 ปี และต้องมานั่งฟ้องร้องคน และเป็นคดีความกัน 5 ปี ตายหรือไม่ “เป็นมิตรกันตอนกู้ เป็นศัตรูกันตอนทวง” อ.วันชัย กล่าวย้ำ

มรดก อย่าให้เยอะ

อ.วันชัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีเงินทองทรัพย์สินบางคนอาจคิดว่า “ให้กันตอนเป็น ดีกว่าไปเห็นกันตอนตาย” ทั้งยังคิดว่าเมื่อให้มรดกไปแล้วลูกหลานจะกตัญญูต่อตนมากขึ้น จึงให้ทรัพย์สินที่สะสมมาทั้งชีวิตกับลูกเป็นส่วนใหญ่ และเก็บส่วนน้อยไว้ให้ตนเองเพียงแค่พอใช้ชีวิตที่เหลือเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงปัญหาสุขภาพที่เอาจพบเจอในอนาคต

อ.วันชัย ยกตัวอย่างว่า พรรคพวกคนหนึ่ง เมื่อเกษียณอายุได้เงินมาประมาณ 8 ล้านบาท จึงแบ่งให้ลูก 3 คน คนละ 2 ล้านบาท และเหลือไว้ให้ตัวเอง 2 ล้านบาท แต่ต่อมาเกิดเส้นเลือดในสมองแตก

ตอนแรกลูก ๆ ยังมาดูแลเพราะตนเองยังมีเงินเหลืออยู่อีก 2 ล้านบาท แต่เมื่อเงินหมด ลูกทั้ง 3 คนกลับเกี่ยงกันมาดูแล เพราะรู้ว่าต้องออกค่าใช้จ่าย สุดท้ายเป็นว่า หมดเงิน หมดตัว หมดความนับถือ หมดความกตัญญู

อ.วันชัย แนะนำว่า กฎหมายกำหนดว่าสามารถให้ทรัพย์สินลูกได้ แต่ถ้าลูกอกตัญญู (ภาษากฎหมายเรียกว่า เนรคุณ) สามารถฟ้องร้องเพิกถอนการให้และเอาคืนได้

ซึ่งมีกรณีให้เห็นจำนวนมากที่พ่อแม่มีที่ดิน ที่นา และยกให้ลูก แต่สุดท้ายกลับมีปัญหาฟ้องร้องกับสะไภ้และเขย เป็นปัญหาการแย่งสมบัติกัน

ถ้ามีสมบัติอยากจะแบ่ง ให้แบ่งพอสมควร อย่าใจดียกให้แล้วหวังว่าจะได้รับการเคารพนับถือหรือให้ความสำคัญกตัญญู อย่าลืมว่าลูกต้องมีภรรยา เขย สะไภ้ เช่นเดียวกัน

“ผมเคยทำคดีในลักษณะนี้มาเยอะ มันเป็นความเจ็บปวดของพ่อแม่มากที่จะต้องมาฟ้องร้องกับลูก ที่จะมาเรียกทรัพย์สินคือกับลูก”

ดังนั้น แม้ว่าในทางกฎหมายจะกำหนดว่าถ้าเนรคุณ คือ 1.ประทุษร้ายคนให้เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง 2.หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอย่างร้ายแรง 3.ยามเมื่อยากไร้ไปขอความช่วยเหลือแล้วไม่ได้รับการดูแล กฏหมายกำหนดว่าสามารถเอาทรัพย์สินที่ให้ไปคืนได้

อ.วันชัย

พินัยกรรมทำให้มีคุณค่าในตัวเอง

อ.วันชัย ระบุว่า หากเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ สมบัติจะตกสู่ทายาทโดยธรรม นั่นคือ พ่อ แม่ (หากยังมีชีวิตอยู่) ภรรยา และบุตร

ตัวอย่างเช่น นายเอ เสียชีวิต มีทรัพย์สินอยู่ 10 ล้านบาทโดยได้มาระหว่างแต่งงาน ทรัพย์สินจะเป็นของภรรยา (จดทะเบียนสมรส) ก่อนครึ่งหนึ่งหรือเรีกยว่าสินสมรส

เท่ากับว่า ภรรยานายเอจะได้สินสมรส 5 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านบาทเป็นมรดก พ่อ แม่ ลูก (2คน) และภรรยาจะได้เท่ากัน แสดงว่า พ่อได้รับ 1 ล้านบาท แม่ได้รับ 1 ล้านบาท ลูกได้รับคนละ 1 ล้านบาท และภรรยาได้รับอีก 1 ล้านบาท รวมแล้วภรรยาจะได้ 6 ล้านบาท (สินสมรส 5 ล้านบาท+มรดก 1 ล้านบาท)

ในกรณีที่พ่อแม่นายเอเสียชีวิตไปแล้ว มรดกหลังจากหักสินสมรสแล้ว ลูกและภรรยาก็จะได้คนละเท่า ๆ กัน

ในกรณีที่มีภรรยา แต่ไม่มีบุตร และพ่อเเม่เสียชีวิตแล้ว มรดกหลังจากหักสินสมรสแล้ว จะตกสู่ภรรยา และพี่น้องท้องเดียวกัน (ถ้ามี)

ดังที่ยกตัวอย่างไปนั้น อ.วันชัย ระบุว่า บุตรที่กตัญญูและบุตรที่ไม่กตัญญูก็จะได้รับมรดกโดยเท่า ๆ กัน ซึ่งไม่เป็นธรรม ฉะนั้น สามารถกำหนดมรดกที่จะให้ได้ด้วยการทำพินัยกรรม ซึ่งพินัยกรรม เปรียบเสมือนคำสั่งเด็ดขาดก่อนเสียชีวิต

ทั้งนี้ พินัยกรรมยังสามารถแก้ไขได้หากยังมีชีวิตอยู่ สามารถเปลี่ยนเมื่อใดก็ได้ แต่ในกรณีที่เขียนไว้หลายฉบับ จะยึดเอาฉบับล่าสุดที่เขียนและเซ็นไว้

สำหรับกรณีที่เขียนพินัยกรรมไว้หลายฉบับ แม้จะยึดตามฉบับล่าสุด แต่หากเป็นทรัพย์สินต่างรายการกันก็จะยึดตามที่ระบุในแต่ละฉบับ

“ผมมีคำแนะนำเป็นข้อสรุปของท่านวัยเกษียณ พินัยกรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถจะทำให้เรานั้นมีคุณค่าในตัวของเรา ถ้าจะให้ทรัพย์สินกับลูกก็ให้พอสมควร และเรามีความประสงค์เจตจำนงจะให้ใครอย่างไร มันก็สามารถจะเก็บเป็นความรับได้…เมื่อเราตายลง ก็เป็นไปตามนั้น”

ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสะท้อนได้ว่า ให้หมดก็อันตราย รอตายแล้วให้ตกทอด คนดีคนเลวได้เท่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีและมีอำนาจต่อรองมากที่สุด อยู่ในมือเรามากที่สุดคือพินัยกรรม

ในชีวิตเป็นทนายความมา อ.วันชัย ระบุว่า แม้แต่ลูกก็ฟ้องกับพ่อกับเเม่เพราะสมบัติ ภรรยาที่รักกันมา 40-50 ปี ก็ฟ้องกันเพราะทรัพย์สินเงินทอง เพื่อนฝูงที่ทำธุรกิจร่วมกันมาก็ต้องมาฟ้องร้องและแตกคอกันเพราะทรัพย์สินเงินทอง

อายุมากแล้ว ไม่ควรจะพลาด และไม่ควรจะผิดใด ๆ เกิดขึ้นอันเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน เรามามีคดีความตอนอายุ 65-70 ปี มีคดี 1 ปีนั้นแปลว่าแก่ไป 5 ปี ขอให้ผู้สูงอายุตระหนัก ระมัดระวัง พิจารณาให้รอบคอบ และท่านจะได้ไม่ต้องเสียใจ ถ้าจะตายก็ตายแบบนอนตายตาหลับ อ.วันชัย กล่าวทิ้งท้าย

อ.วันชัย

ชู ‘เกษียณสโมสร’ เป็นประโยชน์มาก

อ.วันชัย เผยภายหลังการบรรยายว่า Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร ถือเป็นประโยชน์มากในด้านสุขภาพ สำหรับผู้สูงวัยหรือไม่สูงวัยเองก็ตาม

โดยสามารถได้รับความรู้ ความคิด และข้อพิจารณาจากบูธต่าง ๆ ซึ่งได้ประโยชน์อยู่แล้ว ยิ่งมาฟังเสวนาในแต่ละวันด้วยแล้ว ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจนอกจากนี้ยังได้รับผลิตภัณฑ์และเอกสารต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

ที่สำคัญยังมีเรื่องกฎหมายสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งสำคัญมากเพราะผู้สูงวัยจะพลาดไม่ได้ หากพลาดจะเเก้ลำบาก หรือไม่สามารถแก้ได้

การจัดงานในครั้งนี้จึงได้ทั้งสุขภาพ ความรู้ ชีวิต จิตใจ และการบริหารจัดการกับตัวเอง ครอบครัว ตลอดจนสังคมได้เป็นอย่างดี อ.วันชัย กล่าว