โรคหลอดเลือดสมอง รู้ไว รักษาไว โอกาสหายเป็นปกติมากกว่า

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชันแนล
นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล” ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชันแนล

สัญญาณเตือนภัย อันตรายโรคหลอดเลือดสมอง รู้จักอาการ วิธีการรักษา แพทย์ชี้ รู้ไว รักษาไว โอกาสหายเป็นปกติมากกว่า

วันที่ 27 มิถุนายน 2567 เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับ “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งจัดโดยการผนึกกำลังกันระหว่าง “มติชน” และพันธมิตรด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 27-30 มิถุนายน 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

ภายในงานมีการจัดกิจกรรม Health Talk ในหัวข้อ “สัญญาณเตือนภัย อันตรายโรคหลอดเลือดสมอง” โดย “นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล” ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชันแนล

อาการโรคหลอดเลือดสมอง

นพ.ชาญพงค์กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เกิดจากอาการตีบแคบหรืออุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และภาวะที่มีเลือดออกในสมอง หรือถ้าเส้นเลือดมีการแตก เนื้อสมองก็จะโดนเบียด เกิดเป็นสมองบวมได้ (Stroke)

สำหรับอาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง จะมีอาการเวียนศีรษะ เดินเซ ร่วมกับอาการด้านการมองเห็น เช่น ตามัว หยิบสิ่งของไม่ถูก หรือเห็นวัตถุซ้อนกันเป็น 2 ส่วน ซึ่งเป็นการเตือนว่ามีภาวะของสมอง ซึ่งต้องรีบมาพบแพทย์

Advertisment

บางครั้งอาการตามัวหรือดับไปอาจไม่ใช่โรคเกี่ยวกับตา แต่เป็นภาวะของหลอดเลือดที่คอตีบแคบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงตาและสมองไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีอาการจากปาก เช่น มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดผิด ตลอดจนพูดคุยไม่รู้เรื่องแบบเฉียบพลัน ล้วนเป็นอาการเตือนของภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอทั้งสิ้น

นพ.ชาญพงค์ระบุว่า ถ้ามาพบแพทย์อย่างทันท่วงที การให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมงจะช่วยให้เส้นเลือดโล่งและกลับไปเป็นปกติได้ ทั้งนี้ ไม่ควรซื้อยามากินเอง

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล” ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชันแนล

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

นพ.ชาญพงค์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหลอดเลือดคอตีบแคบ

Advertisment

พร้อมแนะนำว่าผู้สูงอายุควรมีเครื่องวัดความดันอยู่ที่บ้าน ตรวจเช็กตลอดว่าความดันไม่ควรเกินเท่าไร ซึ่งอยู่ที่แต่ละคนและเเพทย์แนะนำ

สำหรับภาวะเสี่ยงรองคือ การดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งโอกาสที่ไขมันจะมาจับที่หลอดเลือดคอและหลอดเลือดในสมองก็มีมากขึ้น

อีกภาวะคือการนอนกรน ซึ่งคนจะไม่ระวังกัน แต่พบว่าเป็นความเสี่ยงของสมองขาดเลือดได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ทำอย่างไรไม่ให้เกิด

สำหรับการระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง นพ.ชาญพงค์ระบุว่า อันดับแรกคือ การรับประทานอาหารที่เหมาะสม หลักการง่าย ๆ คือลดการกินเค็ม เพราะจะทำให้ความดันสูงได้ ส่วนการกินอาหารหวานมากเกินไปก็ไม่ดี นอกจากนี้ คือการคุมมัน ดังนั้น “คุมเค็ม คุมหวาน คุมมัน” ป้องกันได้ทุกโรค

ต่อมาคือ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 20 นาที สำหรับผู้สูงอายุควรเพิ่มความยืดหยุ่น เพราะผู้ป่วยสูงอายุจะมีความเสี่ยงจากการล้มและกระดูกสะโพกหัก

ดังนั้น ต้องออกกำลังกายด้วยความยืดหยุ่น การเดินออกกำลังกายอย่างเดียวอาจไม่พอ เช่น ยกน้ำหนักเบา ๆ เป็นการฝึกให้มวลกล้ามเนื้อยังคงอยู่ ทั้งนี้ การออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ด้วย

ต่อมาคือ การคุมความดัน ผู้สูงอายุต้องวัดความดันตัวเองให้เป็นที่บ้าน เช่น ถ้าเกิน 140 ต้องระวัง เพราะเส้นเลือดอาจตีบหรือแตกในสมองได้ และบางรายอาจไม่ได้กินยาต่อเนื่อง เป็นต้น

สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ และรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่แล้ว อาจต้องมีการปรับยา เป็นยาละลายลิ่มเลือดตัวหนึ่ง คู่กับยาป้องกันเส้นเลือดตีบ แต่ต้องลดปริมาณทั้ง 2 อย่างลง เพราะถ้ารับประทานมากเกินไปอาจเกินแผลและเลือดในสมองได้ง่าย

อีกอย่างที่สำคัญคือ ใช้ชีวิตที่ไม่เครียด ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดยาก ต้องรักษาสมดุล หรือ “Work Life Balance” ถ้าเครียดมากไปทำให้ความดันสูง นำไปสู่เส้นเลือดตีบในสมอง ซึ่งแก้ไขไม่ได้ และจะนำไปสู่จุดลำบาก

“ทุก 2 มิลลิเมตรของความดันที่ลดลง ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 15% ถ้ารักษาความดันได้ปกติก็ป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดตีบในสมองได้แล้ว เราไม่ได้ป่วยคนเดียว คนรอบข้างเราต้องมาเทกเเคร์เราด้วย เพราะฉะนั้นสำคัญมาก”

ที่สำคัญ นพ.ชาญพงค์ยังระบุว่า ช่วงหลังมานี้อายุน้อยก็เป็นโรคเลือดสมองได้แล้ว อายุ 30 ปีก็เป็นได้ จากการใช้ชีวิต เช่น นั่งหน้าคอมพิวเตอร์วันละ 10 ชั่วโมงและกินน้ำอัดลม อาหารจังก์ฟู้ด และไม่มีเวลาไปพบแพทย์ รู้อีกทีความดันอาจจะ 180 ไปแล้ว

การตรวจหลอดเลือดคอก็สำคัญ ควรตรวจปีละครั้ง ถ้าเริ่มมีคราบไขมันก็มีโอกาสที่สมองอาจขาดเลือดได้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 15-20 นาที ในการตรวจ หลอดเลือดด้านขวาและซ้ายอย่างละ 2 เส้น และด้านหลัง 2 เส้น แต่หากต้องการตรวจละเอียดจริง ๆ ต้องทำ MRI หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล” ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชันแนล

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

นพ.ชาญพงค์ระบุว่า หากพบคราบไขมันในหลอดเลือด ปัจจุบันการผ่าตัดสามารถลอกคราบไขมันได้ในกรณีคนที่ตีบมากกว่า 70% หรือใช้บอลลูนในการขยายหลอดเลือดกรณีไม่สามารถผ่าตัดได้ ส่วนกรณีที่น้อยกว่า 60% ต้องรักษาตามอาการ

สำหรับการปฐมพยาบาล หากพบญาติหรือผู้ป่วยมีอาการโรคเลือดสมอง อันดับแรกให้นอนตะเเคง เอาสิ่งที่อยู่ในปากออก เช่น ฟันปลอม อาหาร ฯลฯ เพราะอาจลงไปอุดตันและทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ทางที่ดีควรเรียกรถฉุกเฉิน เพราะมีเครื่องมือและวิธีที่ดีกว่า

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองและเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โอกาสจะกลับมาหายเป็นปกตินั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ถ้าอายุน้อยจะฟื้นตัวเร็วกว่าอายุมาก หรือถ้ามีอาการและรีบรักษาก็จะมีโอกาสฟื้นตัวเป็นปกติมากกว่า โดยขึ้นอยู่กับขนาดการตีบของเส้นเลือดด้วย ถ้าตีบมากโอกาสกลับเป็นปกติก็ยากกว่า เป็นต้น

“รู้ไว รักษาไว โอกาสหายเป็นปกติมากกว่า โรคสมองสำคัญอยู่ที่สมอง เพราะเสียหายไปแล้วฟื้นยาก ป้องกัน ดีกว่ารักษา” นพ.ชาญพงค์กล่าวทิ้งท้าย

แล้วพบกันในงาน “Thailand Healthcare 2024 เกษียณสโมสร” วันที่ 27-30 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น. สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกปลอดภัยด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามย่าน ทางออก 2

นพ.ชาญพงค์ ตังคณะกุล” ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชันแนล