หมอเลี้ยบ เผยปั้นนักรบซอฟต์พาวเวอร์ 20 ล้านคน สร้างเม็ดเงินสะพัด 8 ล้านล้าน ในปี’70

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลีรองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เผยตั้งเป้าปั้นนักรบซอฟต์พาวเวอร์หรือคนที่มีทักษะสูงในด้านต่าง ๆ 20 ล้านคน หวังสร้างเม็ดเงินสะพัด 8 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานในงานแถลงข่าวงาน “THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024” Studio Room ชั้น 5 Index Creative Village เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา 

โดยงาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 1 และ 2 

นพ.สุรพงษ์กล่าวภายหลังงานแถลงข่าว ถึงเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและเรื่องงบประมาณของการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ว่าการทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ต้องให้มีความแข็งแรงและยั่งยืน และการทำซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่การจัดอีเวนต์ แต่การจัดอีเวนต์เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่น งานมหาสงกรานต์ งานลอยกระทง หรืองาน Winter Festival ถือเป็นส่วนหนึ่งที่พยายามทำเพื่อให้เกิดความน่าสนใจและน่าตื่นเต้นกับเทศกาลสำคัญของประเทศไทย

พื้นฐานที่สำคัญคือการสร้างคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ ดังคำที่กล่าวไว้ว่าหวังอนาคต 1 ปี ให้ปลูกข้าว หวังอนาคต 10 ปี ให้ปลูกต้นไม้ หวังอนาคต 100 ปีให้สร้างคนแต่คงไม่รอถึง 100 ปี ดังนั้น ต้องมีการสร้างคนให้ได้มากที่สุด

Advertisment

ภายใน 4 ปี (.. 2570) ตั้งเป้าว่าจะมีการสร้างคนที่มีทักษะสูงและมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ประมาณ 20 ล้านคน เรียกว่าเป็นนักรบซอฟต์พาวเวอร์ทำให้สามารถขับเคลื่อนในทุกเรื่องที่อยากจะขับเคลื่อนได้

อาทิ อยากขับเคลื่อนอาหารไทยก็จะมีเชฟอาหารไทยที่พร้อมไปอยู่ทั่วโลกได้ อยากขับเคลื่อนมวยไทยก็มีโค้ชที่พร้อมจะเดินหน้า หรือภาพยนตร์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางนำเอาซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่น ๆ ของไทยออกไปสู่ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร มวย แฟชั่น ศิลปะ ฯลฯ หรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์เองที่ออกไปสู่เทศกาลระดับโลกในทุก ๆ เทศกาล

การส่งเสริมทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น เราจะเน้นให้ทุก ๆ คนได้มีโอกาส เพราะถ้าสร้างซอฟต์พาวเวอร์แล้วคนกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์ ร่ำรวย แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับประโยชน์ อันนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเรา

ในขณะเดียวกัน ต้องการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอุตสาหกรรม แก้กฎหมายที่ล้าสมัย เติมเงินเข้ากองทุนให้มีเพียงพอ สร้าง One-Stop Service ให้การทำงานต่าง ๆ ของซอฟต์พาวเวอร์มีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญคือต้องส่งออกไปสู่ต่างประเทศ

Advertisment

ดังนั้น การประชุมกรรมการซอฟต์พาวเวอร์จึงต้องจัดที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งสัญญาณว่ากระทรวงการต่างประเทศคือเจ้าภาพใหญ่ และทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์จะวางระบบและวิจัยพฤติกรรมของคนทั่วโลก ว่าคนต่างประเทศสนใจอะไร ชอบวัตนธรรมของไทยแบบใด นำไปสู่การเดินหน้าขับเคลื่อนในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน เพื่อเดินหน้าไปสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจตั้งเป้าว่า ถ้ามีนักรบซอฟต์พาวเวอร์ 20 ล้านคน ได้ฝึกอบรมทักษะระดับสูงถึงสูงมาก ใน 20 ล้านคนนั้นจะมีรายได้ประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 200,000 บาทต่อปี ดังนั้น จะสร้างเม็ดเงินได้ประมาณ 4 ล้านล้านบาทต่อปี 

โดยสิ่งที่จะได้รับอานิสงส์คือการท่องเที่ยว มีการจับจ่ายใช้สอย เงินก็จะกระจายไปสู่ภาคโรงแรม อาหาร แฟชั่น กีฬา และอื่น ๆ มากมาย โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์จะสามารถสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนได้ประมาณ 8 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เป็นเป้าหมายภายในระยะเวลา 4 ปี หรือใน พ.. 2570 นพ.สุรพงษ์กล่าว

THACCA บูรณาการงบประมาณ

สำหรับเรื่องงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์จากภาครัฐ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อไปดูระบบงบประมาณก่อนหน้านี้กับคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือในปีล่าสุดคือคำว่าซอฟต์พาวเวอร์รวมแล้วงบประมาณไม่น้อยกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท แต่งบประมาณจำนวนดังกล่าวที่เสนอขอกันที่ผ่านมา คือต่างคนต่างทำ แต่รัฐบาลนี้จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก 

ที่ผ่านมา กรม กอง กระทรวง ต่างคนต่างเสนองบประมาณในส่วนของตัวเอง โดยไม่ได้คิดในเชิงยุทธศาสตร์ หรือคิดเป็นภาพใหญ่ร่วมกัน แต่วันนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เห็นว่าต้องเอายุทธศาสตร์เป็นตัวกำหนดงบประมาณ ทำให้งบประมาณสามารถต่อออกมาเป็นจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ร่วมกัน

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากการวางแผนปีงบประมาณ 2568 แล้ว ดังนั้น การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาที่เหลือประมาณ 3 เดือนของปีงบประมาณนี้ จึงเป็นการของบฯกลางของปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นการขอเท่าที่จำเป็น สำหรับปีงบประมาณ 2568 ในส่วนของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่งบประมาณภาพใหญ่ทั้งหมดที่มีการอภิปรายในสภา

สำหรับการบูรณาการงบประมาณร่วมกันในภาพใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อมีสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์” (Thailand Creative Culture Agency หรือ THACCA) ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือทักก้าดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาไป โดยคาดการณ์ว่างบประมาณปี 2569 จะได้เห็นการบูรณาการงบประมาณอย่างชัดเจนมากขึ้น นพ.สุรพงษ์กล่าว