มรดกสยาม 3 สมัย BEM พาชม Golden Boy แบบอินไซด์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Golden Boy

“Happy Journey with BEM 2024 มรดกสยาม 3 สมัย” BEM พาชม Golden Boy แบบอินไซด์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดินทางสะดวก-ความรู้แน่น ผู้ร่วมกิจกรรมสุดประทับใจ

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม, กรมศิลปากร, สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร  ร่วมด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

อาสาพาลูกค้าขึ้นรถไฟฟ้าเที่ยวงาน “มรดกสยาม ๓ สมัย” แกะรอยประวัติศาสตร์แบบอินไซด์ ‘ทวารวดี-สุโขทัย-อยุธยา’ เพื่อเป็นสื่อกลางพาลูกค้าขึ้นรถไฟฟ้าเที่ยวต่อเนื่องปีที่ 3 กับ “Happy Journey with BEM 2024 ในธีม มรดกสยาม ๓ สมัย” โดยงานจะจัดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00-20.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

หนึ่งในกิจกรรมของวันนี้ คือ “Exclusive Talk & Walk” นำชมห้องลพบุรี โดย ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่ศิลปะสมัยลพบุรี และ ประติมากรรมสำริด “Golden Boy” ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพิ่งส่งคืนสู่ประเทศไทย

Advertisment

ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวถึง “สมัยลพบุรี” ว่า คำนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาเรื่องการเมืองทางด้านดินแดนระหว่างไทยและกัมพูชาภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

จึงต้องสร้างความแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์กัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ว่าไทยมีเมืองที่เติบโตขึ้นมาและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองต่างไปจากเมืองพระนครของเขมร ซึ่งอยู่ภายใต้ฝรั่งเศสในขณะนั้น นั่นคือ “เมืองลพบุรี”

ทำให้ “สมัยลพบุรี” ถูกใช้เป็นชื่อเรียกโบราณวัตถุที่อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันกับ “ลุ่มน้ําโตนเลสาบ” หรือ “เขมร” นั่นเอง

วัฒนธรรมสมัยลพบุรี หรือ วัฒนธรรมลุ่นน้ำโตนเลสาบ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เติบโตควบคู่กันมากับวัฒนธรรมทวารวดี ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง นับพันปีมาแล้ว

Advertisment

โดยปรากฏหลักฐาน เช่น การพบศิวลึงค์ ซึ่งสะท้อนถึงการนับถือศาสนาพราหมณ์ ไศวะนิกาย หรือการค้นพบทับหลัง ซึ่งเป็นโครงสร้างปราสาทที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียใต้ เป็นต้น

ศาสนาพราหมณ์ที่ปะปนในวัฒนธรรมทวารวดี ยังพบที่ “เมืองโบราณศรีเทพ” ด้วย ซึ่งมีความน่าสนใจคือมีความหลากหลายมากในการค้นพบกลุ่มประติมากรรม จากหลายนิกายและหลายความเชื่อ ซึ่งรวมถึงงานช่างแบบลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโตนเลสาบที่รวมอยู่ในเมืองเดียวกันด้วย

ชม Golden Boy แบบอินไซด์

สำหรับไฮไลต์ของห้องจัดแสดงลพบุรี มีไฮไลต์อยู่ที่ ประติมากรรมสำริด Golden Boy เดอะ เมท เพิ่งส่งคืนสู่ประเทศไทย

ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวก่อนบรรยาถึง Golden Boy ว่า ลักษณะของประติมากรรมสำริด เกิดจากการนำทองแดงและดีบุกมาผสมกัน และหล่อขึ้นมา ซึ่งสนิมของทองแดงจะมีสีเขียว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประติมากรรมรูปหล่อสำริดจึงปรากฏสีเขียวด้วย

โดยภูมิปัญญาการหล่อสำริดนั้น คนในลุ่มแม่น้ำมูล หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยรู้จักกันมานับพันปีแล้ว และสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมาย

สำหรับประติมากรรมสำริด Golden Boy มีที่มาที่ไปจาก “นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด” พ่อค้ารับซื้อโบราณวัตถุได้ไปรับซื้อโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดได้ในพื้นที่บ้านยางโปร่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2518 ในราคากว่า 1 ล้านบาท

จนกระทั่งถูกนำไปจัดแสดงที่ เดอะ เมท ซึ่งภัณฑารักษ์ของเดอะ เมท ตีความว่าเป็นสกุลช่างของศิลปกรรมโตนเลสาบแน่นอน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นรูปปั้นอะไร เพียงระบุไว้ว่าอาจเป็นพระศิวะหรือไม่

แต่เมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับ Golden Boy แล้ว พบว่าไม่ปรากฏสัญลักษณ์สำคัญของพระศิวะเลย หรือหากมีก็อาจจะถูกถอดออกไปแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โกเด้นบอยไม่มีพระเนตรที่สาม ถ้าเป็นพระศิวะจริง ช่างไม่ควรลืมเจาะพระเนตรที่สาม เพราะถือว่าเป็นการผิดตำราของประติมานวิทยา ซึ่งจะถือว่าเป็นภัยต่อตัวช่างเอง หรือเรียกว่า “ผิดครู”

ข้อสันนิษฐานต่อไปคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ Golden Boy จะเป็นรูปแทนบุคคลสำคัญอย่างผู้ปกครองหรือกษัตริย์ในสมัยนั้น นำมาสู่ข้อถกเถียงว่าถ้าเป็นกษัตริย์จะเป็นพระองค์ใด

ข้อสันนิษฐานหนึ่งซึ่งเป็นกระแสที่ค่อนข้างโด่งดังคือ Golden Boy เป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือไม่ ซึ่งพระองค์ปรากฏพระนามอยู่ในจารึกของปราสาทหินพนมรุ้ง สะท้อนว่าพระองค์อยู่ในพื้นที่นี้ หรือมีเครือข่ายอยู่ในบริเวณนี้ รวมถึงน่าจะเป็นผู้ที่สร้างปราสาทหินพิมายด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 รูปแบบทางศิลปกรรมในลักษณะแบบ Golden Boy ค่อนข้างคลายไปแล้ว จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า Golden Boy เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ใช่หรือไม่

ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังกล่าวอีกว่า ในประเทศไทยพบชิ้นงานในลักษณะ Golden Boy น้อยมาก ยิ่งด้วยสภาพสมบูรณ์ยิ่งถือว่ามีคุณค่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาการหล่อสำริดแบบทั้งองค์

นอกจากนี้ Golden Boy ยังมีการทำกะไหล่ทอง หรือการเคลือบชิ้นงานโลหะให้มีสีทอง ซึ่งทำยากมาก คาดว่าถ้า Golden Boy อยู่ในสภาพสมบูรณ์คงจะทองอร่ามไปทั้งองค์

ภายนัยน์ตาของ Golden Boy สันนิษฐานว่ามีการฝังนิลหรือหินสีดำไว้ แต่คงถูกกระเทาะหายไปแล้ว ส่วนตาขาวนั้นเป็นแร่เงินแท้ ซึ่งได้รับการตรวจพิสูจน์แล้ว ถือว่าเป็นเทคนิคการประกอบโลหะที่น่าสนใจมาก

บนใบหน้าของ Golden Boy ยังมีการเซาะร่องต่าง ๆ ทั้งคิ้ว เครา ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่เดิมแล้วคงมีการฝังเเร่ธาตุมีค่าไว้ด้วยเช่นกัน โดยการเซาะร่องลักษณะนี้เป็นที่นิยมมากในลุ่มแม่น้ำมูล หรือภาคอีสานตอนล่าง

สำหรับท่าทางทำมือของ Golden Boy เชื่อว่าแต่เดิมมีการถือของอยู่ในมือ ไม่ใช่การประทานพรแต่อย่างใด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่รู้ว่าในมือนั้นถืออะไร

เดินทางสะดวก ความรู้แน่น

นายพงษ์ศักดิ์ โพธิครูประเสริฐ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้รู้สึกประทับใจในกิจกรรมของ BEM มาก ตนได้รับข่าวสารกิจกรรมนี้มาจากเฟซบุ๊ก และได้ขับรถมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ

แม้ลงทะเบียนล่วงหน้าแล้วและยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์มกลับ แต่ก็มาตั้งแต่เช้าเพื่อต่อแถววอร์คอินเป็นคนแรก ๆ จนได้รับสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมในที่สุด ถือว่าคุ้มค่าจากการขับรถมาจากสุราษฎร์ธานี โดยตั้งใจมาชม Golden Boy และได้ความรู้จากผู้บรรยายเป็นอย่างมาก

สำหรับการเดินทางมาร่วมงาน นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า อันที่จริงจะขับรถมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เลยก็ได้ แต่เลือกจอกรถไว้ที่บ้าน และโดยสารรถไฟฟ้า MRT จากสถานีลาดพร้าวมาที่สถานีสนามไชย ซึ่งถือว่าสะดวกมาก แม้มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ใช้เวลาน้อยกว่าที่ขับรถมาเอง

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถ้ามีกิจกรรมเช่นนี้อีกก็คงจะมาร่วมอีก เพราะมีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเป็นแฟนคลับรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยว” ด้วย