ภูมิรัฐศาสตร์คืออะไร สำคัญอย่างไรในยุคโลกหลายขั้ว ไทยควรอยู่ตรงไหน

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์
คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับกิจกรรม “BaoBook ก้าวให้รอด มองสมรภูมิโลก” ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ณ Bao Café สาขาสีลมซอย 7 โดยได้รับเกียรติจาก “คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์” นักประวัติศาสตร์อารยธรรมโบราณ อาจารย์ ภัณฑารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โลก และภูมิรัฐศาสตร์มาร่วมบรรยาย และดำเนิน รายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

โดยคุณากร ได้ชี้ให้เห็นว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” มีความสำคัญมากเพียงใด ตั้งแต่ทำความเข้าใจนิยาม ความสำคัญ ตลอดจนยกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในยุค “โลกหลายขั้วอำนาจ” และประเทศไทยควรอยู่ตรงไหน เตรียมพร้อมอย่างไร

นิยามของ “ภูมิรัฐศาสตร์”

คุณากร กล่าวถึงนิยามของ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) ว่า มีรากศัพท์มาจากคำว่า ภูมิศาสตร์ (Geo) + รัฐศาสตร์ (Politic) ซึ่งหมายถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (ระหว่างประเทศ) ผ่านมุมมองในเชิงภูมิศาสตร์ หรือเชิงพื้นที่

โดยคำว่า “เชิงพื้นที่” อยู่ที่การตีกรอบว่าหมายถึงพื้นที่ในเชิงกายภาพเท่านั้นหรือไม่ กล่าวคือ พิจารณาเพียงแค่ภูเขา แม่น้ำ ทะเลทราย ชายฝั่ง ภูมิอากาศ ปริมาณฝน แร่ธาตุ หรือตีความถึงภูมิศาสตร์มนุษย์ด้วย ซึ่งหมายรวมถึงวัฒนธรรม เชื้อชาติ วิถีชีวิต ศาสนา ประวัติศาสตร์ ตลอดจนศิลปะ

ทั้งนี้ ส่วนมากที่ยอมรับกันทั่วไป คือการมองภูมิศาสตร์ในความหมายเชิงกว้าง เพราะถ้าสนใจเพียงแค่ภูเขา แม่น้ำ แต่ไม่สนใจชาติพันธุ์ ลักษณะเศรษฐกิจ หรือความเชื่อของมนุษย์ ก็จะไม่ครบนิยามของคำว่า ภูมิศาสตร์ ซึ่งมีทั้งภูมิศาสตร์กายภาพและภูมิศาสตร์ที่เป็นมนุษย์

Advertisment

ดังนั้น นิยามกว้าง ๆ ของภูมิรัฐศาสตร์ คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่ทั้งที่เป็นธรรมชาติและเป็นเรื่องของมนุษย์

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิศาสตร์และรัฐศาสตร์ ยังมีประวัติศาสตร์อยู่ตรงกลาง เวลาจะศึกษาภูมิรัฐศาสตร์ต้องศึกษา “สิ่งที่เป็นอยู่” (ภูเขา แม่น้ำ ทะเลทราย ที่ราบ ฯลฯ) ประกอบกับ “สิ่งที่เป็นมา” (ความเป็นมาของรัฐ ซึ่งคือประวัติศาสตร์) และ “สิ่งที่อยากให้เป็นไปในอนาคต” (การออกแบบหรือดำเนินนโยบาย)

ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นการศึกษาข้อเท็จจริงในทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ (พัฒนาการในเชิงเวลา) และสภาวะปัจจุบันที่พยายามกำหนดหรือบรรลุเป้าหมายในอนาคต (รัฐศาสตร์)

ภูมิรัฐศาสตร์ มีนานแล้วแต่ไม่ถูกนิยาม

คุณากร กล่าวว่า อันที่จริงสิ่งที่หมายถึงภูมิรัฐศาสตร์มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นภูมิรัฐศาสตร์ ในด้านหนึ่งคำว่าภูมิรัฐศาสตร์ที่กลายมาเป็นประเด็นยอดฮิต โดยเฉพาะในประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการเปลี่ยนสถานะของระบบโลก กล่าวคือ หลังจบสงครามเย็นระบบโลกมีลักษณะเป็นขั้วเดียว นั่นคือ โลกเสรนิยม ที่อเมริกาและพันธมิตรครอบงำเป็นมหาอำนาจโดยที่ไม่มีคู่แข่งที่พอจะท้าทายได้ในช่วงระยะเวลาประมาณทศวรรษ 1990-2020

Advertisment

ภาวะที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาประมาณ 30 ปีนี้กำลังจบสิ้นลง และกำลังมีภาวะแบบใหม่ซึ่งสถานะนำแบบหนึ่งเดียวของอเมริกาและโลกตะวันตกเริ่มถูกท้าทายอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ด้วยการเกิดขึ้นจากมหาอำนาจลำดับรองลงมา อย่างจีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล หรือประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางหลาย ๆ ประเทศ

มีการพูดถึงเส้นทางสายไหมใหม่ องค์กรความร่วมมือยูเรเชีย มีการเกิดขึ้นของกลุ่มประเทศบริกส์ (BRIC) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปรู้สึกว่าความเป็นไปในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังย่างเข้าสู่กรอบใหม่ หรือยุคสมัยใหม่

คุณลักษณะในความไม่เหมือนเดิมดังกล่าว คือ โลกขั้วเดียวกลายเป็น “โลกหลายขั้ว” หมายความว่าแต่ละขั้วจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งร่วมมือกันเป็นกลุ่มย่อย การต่อต้าน ขัดแย้ง และแข่งขันกัน ซึ่งตัวแสดงคือรัฐหรือประเทศ เป็นหัวใจที่ทำให้เกิดความตึงเครียด ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งทำให้การศึกษาภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะความไม่เหมือนเดิม ความซับซ้อน และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

BaoBook ก้าวให้รอด มองสมรภูมิโลก

โลกหลายขั้ว

คุณากร กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการแตกสลายของสภาวะที่มีมหาอำนาจหนึ่งเดียวซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้นำ กลายเป็นเริ่มมีมหาอำนาจลำดับรองลงมา แม้จะเทียบไม่ได้กับเบอร์ 1 อย่างอเมริกา แต่การเกิดขึ้นของเบอร์รองลงมากำลังขยายอิทธิพลและมีความเข้มเเข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของระบบปัจจุบัน

โลกที่มีหลายขั้วทั้ง อเมริกา จีน รัสเซีย สหภาพยุโรป อินเดีย เป็นต้น ภายใต้การครอบงำหรือบทบาทเด่นของมหาอำนาจเหล่านี้จะมีจุดที่เรียกว่าความขัดแย้งที่ปะทุขึ้น ซึ่งความขัดแย้งบางจุดไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดขึ้นของมหาอำนาจอย่างจีน หรือรัสเซีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารากทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับการขึ้นมามีอำนาจของมหาอำนาจลำดับรองลงมา สร้างความตึงเครียดในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ตัวอย่างเช่น ทวีปแอฟริกา ซึ่งเคยมีมรดกจากยุคอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้เมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ จีนกลายเป็นพันธมิตรที่หลาย ๆ ประเทศในแอฟริการู้สึกสะดวกใจที่จะติดต่อด้วย

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนมีระบบการปกครองต่างจากตะวันตก กล่าวคือ เมื่อตะวันตกเข้ามาติดต่อ กับประเทศในแอฟริกา ประเทศเหล่านั้นจำต้องมีสิทธิมนุษยชน มีประชาธิปไตย ตลอดจนประเทศตะวันตกคาดหวังให้มีการแก้กฎหมาย หรือเปลี่ยนระบบการเมือง ซึ่งทำให้ผู้นำในแอฟริกาหลายประเทศรู้สึกไม่เปิดรับ

แต่การมาของจีน มักไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในหรือไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการปกครองของประเทศในแอฟริกา แต่อาจตกลงกันในเรื่องสัมปทาน โครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องมีบริษัทจีนเข้ามารับงาน หรือในบางประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคง จีนก็อาจเข้ามาพร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อมั่นใจได้ว่าโครงการก่อสร้างต่าง ๆ จะดำเนินการไปอย่างราบรื่น

ทำให้ประเทศตะวันตกมองว่าคล้ายการมีกองกำลังเข้าไปอยู่ในแอฟริกา ซึ่งชาติแอฟริกาก็ไม่ได้สนใจ ตราบใดที่โครงการเหล่านี้สามารถทำแล้วสำเร็จได้ มิติเหล่านี้จะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อพูดถึงภูมิรัฐศาสตร์ มักพูดกันแต่อเมริกา รัสเซีย จีน แต่อันที่จริงกลุ่มประเทศที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากในโลกหลายขั้วคือประเทศมหาอำนาจระดับกลาง เช่นบราซิล ยุโรปตะวันตก อิหร่าน อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ หรือแม้แต่เอธิโอเปีย เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศก็เป็นสมาชิกของ BRIC ประเทศเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวโน้มในโลกหลายขั้ว

หลายคนอาจมองว่าประเทศเหล่านี้ห่างชั้นกับประเทศอย่างรัสเซีย หรืออเมริกามาก แต่อันที่จริงประเทศที่กล่าวไปมีขนาดทางเศรษฐกิจ มีประชากร และความเข้มแข็งในเชิงการทหารไม่น้อย

ยกตัวอย่างเช่น ไนจีเรีย ที่มีประชากรเป็นร้อยล้านคน และมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแอฟริกา หรือเอธิโอเปีย ที่มีภาพจำคือความอดอยากแห้งแล้ง แต่ปัจจุบัน เอธิโอเปีย เป็นไดนาโมในเชิงเศรษฐกิจของแอฟริกาตะวันออก ที่ก้าวขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดใช้เขื่อนขนาดยักษ์ ซึ่งทำให้ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้รับการแก้ไข ตลอดจนเวลามีความขัดแย้งในทะเลแดง เอธิโอเปีย กลายเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งที่มีเสถียรภาพมากในบริเวณนั้น

รู้จากอดีต มีผลต่อปัจจุบัน

คุณากร กล่าวว่า ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องของการพิจารณา 3 ศาสตร์ ได้แก่ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ หากพิจารณาตามนักประวัติศาสตร์สกุล “ลงก์ดูเร” (longue durée’) หรือประวัติศาสตร์แบบช่วงยาว หนึ่งในนักประวัติศาสตร์สกุลนี้คือ “แฟร์น็อง โบรแดล” (Fernand Braudel ) ที่พูดถึงคือโครงสร้างหรือวิธีการมองประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงมายังปัจจุบันว่า ต้องแยกปัจจัยออกเป็น 3 ระดับช่วงเวลา ได้แก่

ระดับแรก คือ ระดับประวัติศาสตร์ที่มีช่วงเวลายาวมาก ๆ ย้อนกลับไปเกิน 1,000 ปี อย่างปัจจัยทางธรณีวิทยาและสภาพภูมิศาสตร์ เช่น สภาพชายฝั่งเมื่อ 1,000 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องเอามาประกอบการคิดด้วย ระดับที่สอง คือ ระยะกลางในช่วงเวลา 500-1,000 ปี และระดับที่สาม คือ ระยะสั้นหรือเหตุการณ์เฉพาะที่เป็นปรากฏการณ์

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องมากกับภูมิรัฐศาสตร์ เพราะสิ่งที่แฟร์น็อง โบรแดล พูดถึงในช่วงเวลาระยะยาวก็คือภูมิศาสตร์นั่นเอง

เพื่ออธิบายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของทั้งสามศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คุณากรได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ โดยหยิบยกเอาเรื่องราวสำคัญ ๆ ของโลกในอดีตมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติฝรั่งเศส, ยุคทองของกรุงเอเธนส์, การเรืองอำนาจของจักรวรรดิโรมัน, ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

BaoBook ก้าวให้รอด มองสมรภูมิโลก

ภูเขาไฟระเบิด-ปฏิวัติฝรั่งเศส

คุณากร กล่าวว่า มีการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 จำนวนมาก ซึ่งพยายามอธิบายในเชิงเหตุการณ์ เพราะสำคัญมากในการส่งผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองไปยังเหตุการณ์ขนาดใหญ่อื่น ๆ ในโลกอีกมากมาย

แต่ถ้ามองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ในระยะยาว กลับพิจารณาถึงภูเขาไฟการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ “Laki” ในไอซ์แลนด์เมื่อปี 1783 เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือนที่เถ้าถ่านมหาศาลพวยพุ่งสู่ช้้นบรรยากาศ ซึ่งมีหลักฐานและบันทึกของสังคมในหลาย ๆ จุดของโลกพูดถึงการปะทุครั้งใหญ่นี้

เถ้าถ่านของภูเขาไฟ Laki บนชั้นบรรยากาศสังเกตเห็นได้ไกลจากในอียิปต์และอเมริกาเหนือ ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นการปะทุขนาดใหญ่ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยลดลง เพราะแสงอาทิตย์ผ่านลงมาได้น้อยลง ทำให้การปลูกพืชโดยเฉพาะข้าวสาลีได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้ชุมชนในฝรั่งเศสและหลาย ๆ แห่งเผชิญภาวะขนมปังแพง

ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ที่ให้น้ำหนักการศึกษาประวัติศาสตร์ในระยะยาวและผลกระทบจากปัจจัยทางนิเวศวิทยา ธรณีวิทยา และภูมิศาสตร์ จึงมองการปฏิวัติฝรั่งเศสจากคนละมุม กล่าวคือ ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หรือนายเอ นายบี ก็อาจจะไม่ได้สำคัญ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกันลิบลับจากการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มองว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกิดจากการตัดสินใจของมนุษย์ กลุ่มของมนุษย์ สังคม หรือรัฐบาล

ดังนั้น ถ้ามองปัจจัยทางภูมิศาสตร์ การปะทุของภูเขาไฟ Laki จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างซึ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าระบบการเมืองของฝรั่งเศสจะเป็นแบบไหน ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดความวุ่นวาย เกิดการลุกฮือ การประท้วง ซึ่งรุนแรงพอที่จะท้าทายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มนุษย์ไม่มีบทบาทเลย หรือเลิกไปสนใจเรื่องของมนุษย์ แต่ต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อม ให้รอบด้านมากขึ้น ให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่การตัดสินใจของมนุษย์ให้สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น

หากถามว่าการอธิบายการปฏิวัติฝรั่งเศสจากมุมมองของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ฉายความเข้าใจอะไรมาถึงปัจจุบันได้บ้าง คำตอบคือ ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกี่ยว เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ไฟป่าขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ไม่ค่อยถูกมองว่ามีผลกระทบมาถึงทางการเมือง

เหมืองแร่เงิน-ยุคทองเอเธนส์

คุณากร กล่าวถึงอีกตัวอย่างว่า เมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้วคือยุคทองของเอเธนส์ และกรีกคือจุดพีคอันหนึ่งของยุคสมัยการสร้างสรรค์ของมนุษย์ชาติ แต่การที่จู่ ๆ ผู้นำนครรัฐเอเธนส์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เพริคลีส” (Pericles) สามารถสร้างอะไรต่าง ๆ และทำให้เอเธนส์เข้าสู่ยุคทอง เป็นศูนย์กลางหรือมหาอำนาจของโลกกรีกยุคโบราณ หรือเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ประวัติศาสตร์ช่วงนี้จะถูกอธิบายว่าเพราะเป็นความฉลาด ปราดเปรื่องของชาวกรีก ที่มีนักปรัชญา นักปกครอง มากมายไปหมด

แต่การที่เอเธนส์สามารถขึ้นมามีอำนาจ เป็นผู้นำการรวมตัวนครรัฐต่าง ๆ ตลอดจนตั้งรับการรุกรานของเปอร์เซียได้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็มีผล แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การค้นพบเหมืองแร่เงิน ซึ่งแทบไม่ถูกพูดถึง

การค้นพบเหมืองเเร่เงิน เหมือนเป็นการเปิดหีบสมบัติของทรัพยากรอันมหาศาลให้กับนครรัฐเอเธนส์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจู่ ๆ เอเธนส์จึงกลายเป็นมหาอำนาจทั้งที่มีนครรัฐอื่น ๆ มากมายที่เติบโตและพัฒนาขึ้นมาบนรากฐานคล้าย ๆกันกับเอเธนส์

การค้นพบเเร่เงิน คือ เงิน (money) ซึ่งสามารถนำไปผลิตเหรียญ เเลกเปลี่ยนเป็นทรัพยากรต่าง ๆ จ้างคนต่อเรือรบต่าง ๆ นา ๆ นี่คือตัวเปลี่ยนเกมที่ทำให้เอเธนส์ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นนครรัฐแรก ๆ ที่มีการผลิตเหรียญเงินออกใช้จำนวนมาก กรณีแบบนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของภูมิศาสตร์ว่าสามารถกำหนดรูปร่างของสังคมได้ขนาดไหน

เมดิเตอร์เรเนียน-โรมัน

คุณากร กล่าวว่า เมื่อพูดถึงบริบทโลกโรมัน ต้องไม่ลืมว่าโรมันไม่ใช่อารยธรรมยุโรปเท่านั้น จักรวรรดิโรมันมีดินแดนหรือเขตอิทธิพลครอบคลุม 3 ทวีป คือ ยุโรปใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ซึ่งประชากรจำนวนมากของจักรวรรดิโรมันอยู่บริเวณที่เป็นตุรกี เลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอียิปต์ในปัจจุบัน ซึ่งอียิปต์เป็นหนึ่งในแว่นเเคว้นที่มั่งคั่งที่สุดในจักรวรรดิโรมัน

เมื่อมาถึงยุคศตวรรษที่ 1-2 จุดศูนย์กลางของโรมันอยู่รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และหัวใจของโรมันไม่ได้อยู่ที่อิตาลีแล้ว แต่มาอยู่ที่เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เมืองที่มั่งคั่ง สถาปัตยกรรมที่อลังการ และการก่อสร้างใหญ่ ๆ มาอยู่บริเวณนี้เกือบทั้งหมด

ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเหมือนหัวใจของจักรวรรดิโรมัน เพราะการขนส่งทางทะเลที่มีต้นทุนถูกสุด เมื่อพูดถึงการขยายตัวของรัฐ สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดถึงคือการกระจายและรวบรวมทรัพยากร นั่นคือต้นทุนการเดินทางต่ำสุด

โรมันสามารถขยายอาณาจักรยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบทหาร ระบบการปกครอง แต่ปัจจัยหนึ่งที่อาจถูกลืมไปคือการมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นระบบโลจิสติกส์ที่ต้นทุนต่ำมาก เนื่องจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นทะเลใน มีแผ่นดินปิดล้อม คลื่นลมไม่แรงมาก ไม่มีกระแสน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้นการต่อเรือให้เพียงพอต่อการขนส่งผู้คนและสินค้านั้นจึงไม่ซับซ้อน

อีกทั้งการมีอ่าวเว้าแหว่ง คาบสมุทรมากมายรอบ ๆ เมดิเตอร์เรเนียน ทำให้การขนส่งทางเรือสามารถจอดเข้าไปได้เกือบถึงที่หมายปลายทางบนบกโดยที่แทบไม่ต้องต่อระบบขนส่งแบบอื่นเลย นั่นทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงชุมชน ตลาด และแหล่งทรัพยากรนั้นถูกมาก

“ถ้าไม่มีทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จะไม่มีวันเห็นจักรวรรดิโรมันแผ่มาเป็นแบบนี้…แน่นอนว่าโรมันมีระบบถนนที่ดีมาก แต่บางสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้เป็นคนสร้างจะไม่ถูกพูดถึง ถนนโรมันถูกพูดถึงเพราะคนโรมันเป็นคนสร้าง เป็นความสำเร็จของมนุษยชาติ แต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีอยู่แล้วและสำคัญยิ่งกว่า มักไม่ถูกพูดถึง เพราะไม่เกี่ยวกับมนุษย์สร้าง”

ถ้าไม่มีทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โรมจะไม่มีวันกลายเป็นเมืองที่มีประชากรเรือนล้านเป็นเมืองแรกของโลก ที่โรมสามารถมีประชากรมากขนาดนั้นได้ เพราะมีระบบการขนส่งข้าวสาลีข้ามเมดิเตอร์เรเนียนมาจากอียิปต์ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก

“ไม่ว่าประเด็นความไม่พอใจหรือความขัดแย้งจะใหญ่แค่ไหน ถ้าคนไม่หิว คนยังท้องอิ่ม จะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญนัก”

ลำน้ำ-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณากร กล่าว่า ชุมชนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำ ในด้านหนึ่งคือต้นทุนการขนส่งที่ถูก อีกด้านหนึ่งการที่มีชุมชนต่าง ๆ เกิดขึ้นบนเส้นทางน้ำสายเดียวกัน มักจะนำไปสู่การที่ชุมชนเหล่านั้นเติบโตมาเป็นรัฐหรืออาณาจักรเดียวกัน เพราะการเดินทางระหว่างกันทำได้ง่าย ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ

ชัดเจนมากในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะรัฐต่าง ๆ เกิดขึ้นในกรอบของระบบลำน้ำ และระบบหุบเขาซึ่งแทบจะเป็นกฎสากล เพราะพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยป่าหนาทึบ หรือหนองน้ำและเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย นั่นคือ ยุง ซึ่งเป็นที่มาของโรคมาลาเรีย

เพราะฉะนั้น จะเห็นการเกิดขึ้นของบ้านเมืองและรัฐที่เกาะอยู่กับระบบลำน้ำเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะบนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น แต่บริเวณหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซียก็เป็นเหมือนกัน

อย่างในประเทศไทยก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมืองโบราณศรีเทพ เเม่น้ำป่าสัก ลพบุรี อยุธยา ซึ่งทางน้ำใกล้เคียงทอดถึงกัน และอาจจะสนับสนุนสถานะของรัฐทวารวดี ถ้ามองว่ามนุษย์มักจะเกาะไปกับระบบลำน้ำ ประเด็นนี้ก็อาจเพิ่มน้ำหนักรากที่มาของทวารวดีได้เหมือนกัน

สำหรับอยุธยาเอง ด้วยความที่อยู่ในระบบลำน้ำเจ้าพระยาที่แยกออกเป็นแม่น้ำหลัก ๆ ทั้งหมด ท่ามกลางป่าจึงมีเส้นทางที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด อยุธยาจึงอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในการควบคุมเส้นทางหรือเรียกเก็บค่าผ่านทาง

BaoBook ก้าวให้รอด มองสมรภูมิโลก

ภูมิศาสตร์กับเทคโนโลยี

คุณากร กล่าวว่า เมื่อบอกว่าภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญ ก็จะมีข้อสังเกตหรือโต้แย้งกลับมาว่า “ภูมิศาสตร์สำคัญในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าแล้ว ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ก็น่าจะหมดพลังไปแล้วหรือไม่”

ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็น คือ ความสำคัญระหว่างภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้เป็นด้านเดียว เพราะเทคโนโลยีทำให้ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ไม่สำคัญ กลายเป็นสำคัญได้เช่นกัน

อาทิ ยุคนี้มีสมาร์ทโฟน เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ กลายเป็นว่ามีความต้องการเเร่หายากมากขึ้นเพื่อทำชิปต่าง ๆ ดังนั้น การมีอยู่ของแร่หายากจึงกลายมาเป็นประเด็นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หรือการขุดคลองสุเอซ ที่เปิดใช้ในปี 1869 เดินทางจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาทะเลเเดง และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมหาศาล

“สิงคโปร์ จะไม่มีวันเป็นสิงคโปร์วันนี้ ถ้าคลองสุเอซไม่เปิด การเปิดใช้งานคลองสุเอซปลายศตวรรษที่ 19 เปลี่ยนแปลงชะตากรรมของสิงคโปร์ ทำให้การค้ากระโดดพรวดพราด และทำให้สถานะการเป็นเมืองท่าของระบอบอาณานิคมอังกฤษโตขึ้นอย่างมหาศาล”

ในทางกลับกัน เมื่อเปิดคลองได้ก็ปิดคลองได้ เพราะฉะนั้นเมื่อทุกคนมองว่าคลองเปิดตลอดเวลา แต่วันดีคืนดีถ้าคลองถูกปิด ก็เป็นปัญหาวุ่นวายกันทั้งโลกทันที ดังนั้น ความสำคัญของเทคโนโลยีกับภูมิศาสตร์จึงไม่ใช่ด้านเดียว

อีกตัวอย่าง คือ จีนกำลังขุดคลอง “ผิงลู่” เป็นระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร เชื่อมนครหนานหนิงกับปากอ่าวตังเกี๋ย ซึ่งจะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ของจีนใต้ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเดิมทีสินค้าหรือผลผลิตต่าง ๆ จะต้องล่องไปออกปากแม่น้ําจูเจียงที่ กว่างโจว เซินเจิ้น หรือ ฮ่องกง และค่อยลงมาที่ทะเลจีนใต้ รวมระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร

คลองผิงลู่จะสามารถทำให้ตัดออกมาจากหนานหนิงสู่เกาะไหหลำ บริเวณอ่าวตังเกี๋ยได้เลย ซึ่งถ้าจีนมีเมืองท่าขนาดใหญ่บริเวณนั้น จีนก็ต้องปกป้องเมืองท่านั้นด้วยการเพิ่มกำลังทหาร อิทธิพลของจีนจะประชิดเวียดนามมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ปัญหาทะเลจีนใต้เข้มข้นขึ้นไปอีกและมีเดิมพันที่สูงขึ้น

อดีตทำนายอนาคต

คุณากร กล่าวว่า หากสรุปที่กล่าวไป ประเด็นหลักคือเมื่อนำมุมมองเชิงภูมิรัฐศาสตร์มาเสริมในการพยายามทำความเข้าใจความสำพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

สิ่งที่เป็นคุณูปการอันแรก คือ การมองสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงมิติเวลาระยะยาว ไม่ควรให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องรู้ แต่อาจไม่ได้เปลี่ยนสมการของความขัดแย้งหรือความร่วมมือมากขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นพึงระลึกถึงปัจจัยที่คงอยู่มาอย่างยาวนาน และเป็นสารัตถะ (ใจความสำคัญ) ในการพัฒนาของสังคม อาทิ ปัจจัยในเชิงภูมิศาสตร์ให้มาก เพราะหลายครั้งคำตอบมักอยู่ตรงนั้นมากกว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดจากการตัดสินใจของมนุษย์

อีกมิติ เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ จะเห็นปัจจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ หรือมนุษย์ เมื่อเห็นหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยุโรป จีน แอฟริกา หรืออาณาบริเวณต่าง ๆ ของโลก ที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติที่มากขึ้น จะช่วยเติมเต็มหรือเพิ่มเสริมคลังของโมเดลที่จะใช้ในการทำนายผลลัพธ์หรือพัฒนาการของสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

“ถ้ามีตัวอย่างที่มากขึ้นจากวัฒนธรรมและอาณาบริเวณที่หลากหลายมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการรับมือสถานการณ์ในโลกยุคปัจจุบัน ที่กลายเป็นโลกหลายขั้ว”

ไทยในโลกหลายขั้ว

คุณากร กล่าวว่า ต้องตระหนักในจุดเด่นหรือจุดแข็งของสถานะที่ไทยเป็น ไทยเป็นประเทศขนาดกลาง แม้ดินแดนอาจดูไม่ใหญ่นัก แต่ในเชิงเศรษฐกิจและประชากรถือว่าไม่เล็ก

การที่ไทยอยู่ในที่ตั้งซึ่งเป็น “ที่นั่งแถวหน้า” ในการเผชิญหน้ากันระหว่างขั้วอำนาจเด่น ๆ ในโลกยุคปัจจุบัน ถือเป็นท้ังความเสี่ยง และโอกาส

ตัวอย่างเช่น เมื่อไปดูการเเสดงที่เล่นกันเเรง ๆ การนั่งแถวหน้าก็มีสิทธิ์โดนลูกหลง แต่ขณะเดียวกันเพราะอยู่แถวหน้าจึงเห็นชัด และคนแสดงบนเวทีจะต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของเรา และรู้สึกว่าเราเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคนที่สามารถให้คุณให้โทษได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน

การมีบทบาทสำคัญ คือ สิ่งที่ไทยมีติดตัวมา ไม่ว่าจะเป็นขนาดประชากร เทคโนโลยี ฯลฯ แต่สิ่งที่มักถูกละเลยคือการสร้างให้ตัวเองมีจุดเด่นมากขึ้นในบางด้าน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เกิดมาแล้วมีแค่นั้น หลาย ๆ อย่างต้องเกิดจากการสร้าง ขายตัวเองว่าเราเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญหรือโดดเด่นในด้านไหน สามารถเป็นตัวถ่วงดุลได้ในกรณีไหน หรือเป็นตัวกลางในการไปคุยกันได้อย่างไม่เป็นทางการสำหรับประเทศนั้น ๆ ที่ประเทศมหาอำนาจอาจไม่ได้อยากคุยตรง ๆ สิ่งเหล่านี้จะกลายมาเป็นจุดแข็ง ซึ่งประเทศอย่างไทยควรจะต้องทำ

พัฒนาการที่เห็น คืออย่างน้อยไทยไม่ใช่ไผ่ลู่ลม และเริ่มที่จะดำเนินการ หรือแสดงจุดยืนต่าง ๆ เช่นแสดงตัวว่า BRIC น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็แสดงตัวว่าสนใจค่ายตะวันตกด้วยเช่นกัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดทำล่วงหน้าและต้องสร้าง ไม่ใช้ถึงเวลาที่ลมพัดมาแล้วคิดว่าเอนได้ มิติตรงนี้ไทยทำอะไรได้อีกไม่น้อย เพราะความเสี่ยงมาพร้อมโอกาสเสมอ

BaoBook ก้าวให้รอด มองสมรภูมิโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง