ข้าว GI มหัศจรรย์ข้าวไทยที่คนไทยต้องรู้ เปิดกลยุทธ์เบรกแอบอ้างคว้าตรา GI

ข้าว GI มหัศจรรย์ข้าวไทยที่คนไทยต้องรู้ ไขปริศนาทำไมข้าวไทยมีกว่า 2.4 หมื่นสายพันธุ์ พร้อมเปิดกลยุทธ์เบรกแอบอ้างคว้าตรา GI

วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน นำโดย ‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ ร่วมกับ กรมการข้าว ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ‘มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024’ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2567

เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงานวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ เต็มไปด้วยประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามาเดินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากข้าวไทย อาหารและผลไม้จากพื้นบ้านอย่างล้นหลาม พร้อมรอร่วมรับฟังการบรรยายที่ลงลึกถึงประวัติศาสตร์ของพันธุ์ข้าวไทยนานาชนิด ไปจนถึงมิติการต่อยอดสร้างรายได้จากข้าว ซึ่งถือเป็นผลิตผลที่ส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศ

เวลา 11.00 น. มีการจัดกิจกรรมเวที ‘เล่าเรื่องข้าวในเชิงวิชาการ : ข้าว GI มหัศจรรย์ข้าวไทย ที่คนไทยต้องรู้’ โดย ดร.รณชัย ช่างศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมข้าว กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

Advertisment

ดร.รณชัย กล่าวว่า ข้าวพื้นเมืองมีบทบาทมากสำหรับไทยมาตั้งแต่เป็นสยาม เราถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดของข้าว ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่เก่าแก่เท่าของไทย ซึ่งเก่าแก่มาเป็นเวลากว่า 5,000 ปี ภายหลังที่เริ่มมีการค้าขายส่งออกไปยังต่างประเทศ สมัย รัชกาลที่ 4 และ 5 ทำให้เกิดปัญหาที่พบว่าข้าวของสยามราคาต่ำลงมาก จึงได้จัดให้มีการประกวดข้าวครั้งแรก เพื่อที่จะทำให้ข้าวที่ปะปนกันมีความบริสุทธิ์ทำให้การส่งออกมีราคาที่ดีขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ปฏิรูปวงการข้าวให้มีระบบ

หลังจากนั้นได้จัดตั้งให้มีหน่วยงานวิจัยข้าวด้วยความช่วยเหลือจากนักวิชาการต่างชาติ โดยมาตรฐานข้าวของสยามจะต้องมีเมล็ดเรียวยาว หรือในภาษาอังกฤษว่า Slender
เมื่อเช้าสู่ปี พ.ศ.2476 บทบาทข้าวของสยามได้มีชื่อเสียงมากขึ้นหลังจากประกวดชนะที่เมืองเรจินา ด้วยข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว

ดร.รณชัยกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยสูญเสียพันธุ์ข้าวน้อยมาก เพราะเรามีธนาคารเก็บพันธุ์ข้าวที่ได้รับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่นทำให้เรามีฐานพันธุกรรมถึง 24,000 สายพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันยังมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง และสำหรับข้าว GI (ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์) เกิดขึ้นจากข้าวพื้นเมืองซึ่งเคยมีบทบาทแค่เป็นความมั่นคงทางอาหาร แต่เราต้องการประกาศเอกลักษณ์เฉพาะของข้าวประจำท้องถิ่นนั้นเพื่อที่จะให้เกิดการค้าขายและสร้างรายได้ให้กับชุมชนนั้นๆ จึงได้มีการเปิดให้ข้าวเหล่านั้นสามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะสามารถช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นได้

Advertisment

“สำหรับสินค้า GI เป็นมาตรฐานที่บ่งบอกถึงความจำเพาะของถิ่นที่ผลิต และความจำเพาะนั้นจะสามารถบอกได้ว่ามีเงื่อนไข ความแตกต่างจากสินค้าหรือสายพันธุ์อื่นอย่างไรในการผลิต โดยตามเงื่อนไขเหล่านั้นจะมีการระบุว่าถ้ามีการผลิตหรือการปลูกในถิ่นฐานที่มีการขอ GI จะทำให้มีคุณสมบัติจำเพาะที่แตกต่างจากการนำไปผลิตที่อื่น อย่างเช่น กลิ่น รสชาติ หรือ คุณประโยชน์ และเป็นการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิต สินค้า GI จึงเป็นเหมือนกับแบรนด์ท้องถิ่นที่บ่งบอกว่าถ้ามาที่นี่จะต้องมาซื้อสื่งนี้“ ดร.รณชัย กล่าว

ดร.รณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 โดยมีการกำกับดูแลตั้งแต่การยื่นคำขอ การพิจารณาร่างคำขอ การแก้ไขร่างคำขอให้เป็นไปตามพรบ.ของสินค้า GI รวมทั้งการบังคับใช้หลังผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว

“การบังคับใช้จะคุ้มครองไม่ให้นำพันธุ์ข้าวที่อยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นเดิมไปปลูกที่อื่นแล้วนำตรา GI มาแอบอ้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามาจากท้องถิ่น และจะมีการต่ออายุเพื่อใช้ตรา GI ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปีเพื่อรักษามาตรฐาน” ดร.รณชัย กล่าว

ดร.รณชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 200 ชิ้นที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI โดยในสินค้าเหล่านั้นมีข้าวถึง 23 สินค้า และเนื่องจากการขึ้นทะเบียน GI มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการตรวจสอบคุณภาพ ทุกๆ ปี ข้าวที่ได้ขึ้นทะเบียนจึงต้องเป็นข้าวถูกมองว่าเหมาะสมที่จะสร้างรายได้ที่คุ้มค่าให้กับชุมชน

“ถ้านำข้าวที่ไม่ใช่ของท้องถิ่นเข้าไปปลูกและต้องการขอขึ้นทะเบียน GI จะต้องปลูกในพื้นที่ใหม่นั้นติดต่อกัน 10 ปีถึงจะยื่นขอได้ สำหรับทิศทางในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของเราต้องคำนึงความยั่งยืนของระบบ ดิน น้ำ ทรัพยากรต่างๆ คุณภาพชีวิตของเกษตรกร พันธุ์ข้าวนั้นจะต้องเหมาะสมและเอื้อประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้ อาจจะไม่ต้องมีผลผลิตจำนวนมากแต่ต้องเข้ากับระบบนิเวศเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อมของท้องที่” ดร.รณชัย กล่าว

สำหรับงาน ‘มหัศจรรย์ข้าวไทย 2024’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ที่ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีสามย่าน (BL27) ทางออกที่ 2 เข้างานฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย