บ้านพิบูลธรรม ตำนาน 126 ปี จากบ้านเสนาบดีกระทรวงวัง สู่ที่ทำงาน รมว.พีระพันธุ์

บ้านพิบูลธรรม

เปิดตำนาน 126 ปี จาก “บ้านนนที” ที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ “หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล” เสนาบดีกระทรวงวัง สู่ “บ้านพิบูลธรรม” ในสมัย “จอมพล ป.” และเป็นที่ทำงานของ รมว. พลังงานในอดีตก่อนจะย้ายไปตึก EnCo จนวันนี้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะกลับมาใช้สถานที่ในตำนานแห่งนี้บัญชาการอีกครั้ง 

สืบเนื่องจากกรณีที่ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการสั่งปรับปรุงห้องทำงานที่ “บ้านพิบูลธรรม” เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน ใกล้กับหัวลำโพง แทนที่ห้องทำงานชั้น 25 บนตึก “เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์” (Energy Complex หรือ EnCo) ถนนวิภาวดีรังสิต

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวค่อนข้างแออัด ที่จอดรถน้อย อาจไม่สะดวกเมื่อต้องไปติดต่อราชการ อีกทั้งหน่วยงานของกระทรวงพลังงานหลายส่วนก็อยู่ที่ตึก EnCo อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่าห้องที่ตึก EnCo ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงเช่นกัน เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นให้สังคมอยากรู้ประวัติความเป็นมาของพื้นที่แห่งนี้ไม่น้อย

บ้านพิบูลธรรม

“ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักกับบ้านพิบูลธรรมหลังนี้ ที่ออกแบบอย่างศิลปะนีโอคลาสสิกและอิตาเลียนเรอเนสซองส์ โดยสร้างขึ้นมาตั้งเเต่ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5

Advertisment

บ้านพิบูลธรรม เดิมชื่อว่า “บ้านนนที” เป็นอาคารที่สร้างใน พ.ศ. 2440 ช่วงรอยต่อของรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 บนเนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่ มี 2 อาคาร ออกแบบอย่างศิลปะนีโอคลาสสิกและอิตาเลียนเรอเนสซองส์ โดยมี “นายแอร์โกเล มันเฟรดี” (Ercole Manfredi หรือ เอกฤทธิ์ หมั่นเฟ้นดี) สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ และ “นายคาร์โล ริโกลี” (Carlo Rigoli) เป็นผู้วาดภาพสีปูนเปียกบนผนังและเพดาน

รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินและบ้าน (อาคารหลังแรก) ให้กับ “หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล” หรือ “พระยาอนุรักษราชมณเฑียร” ในขณะนั้น ก่อนเป็น “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี” เสนาบดีกระทรวงวัง (สำนักพระราชวัง) ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระองค์ได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น (อาคาร 2 ในปัจจุบัน) และให้มีสะพานเชื่อมต่อกับตึกหลังเเรก

บ้านพิบูลธรรม

ต่อมาเมื่อเกิดทางรถไฟสายเหนือขึ้นที่หัวลำโพง (สถานีรถไฟกรุงเทพ) ที่ดินบางส่วนของบ้านจึงต้องถูกเวนคืนให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างทางรถไฟ

Advertisment

สำหรับสาเหตุที่ชื่อบ้านนนที เพราะ สัญลักษณ์กระทรวงวังในอดีตเป็นรูป “โค” หรือ “พระนนทิการ” บ้านนี้จึงถูกเรียกว่าบ้านนนที โดยมีศีรษะวัวประดับอยู่บริเวณหน้าบ้าน

บ้านพิบูลธรรม

จุดเด่นของอาคารหลังแรก คือ บนเพดานห้องโถงมีการวาดลาย “นกกรวิก” แบบฝรั่งที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น ซึ่งมีความงดงามมาก แต่เกิดความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามมหาเอเชียบูรพา

สำหรับอาคารหลังที่ 2 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีรับสั่งให้สร้างอาคารขึ้นใหม่นั้นยังคงสัญลักษณ์โคไว้เหมือนอาคารหลังแรก รวมถึงมีภาพวาดบนผนังและเพดานในลักษณะเดียวกัน

บ้านพิบูลธรรม
ลวดลายนกกรวิก บนเพดานห้องโถงอาคารหลังเเรก

ความวิจิตรของอาคารหลังที่ 2 คือห้องโถงหลักซึ่งมีรูปวาดบนเพดานเป็นลาย “นกสดายุ” ที่มาปราบทศกัณฐ์ขณะกำลังลักพาตัวนางสีดา สื่อความหมายว่า นกสดายุเป็นผู้คุ้มครองและป้องกันเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ให้พ้นจากทุกข์และภัยร้าย ซึ่งก็คือหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงวังนั่นเอง

โดยภาพทศกัณฐ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นศีรษะโขน แต่เป็นหน้าคนจริง ๆ ซึ่งเกิดจากจินตนาการของผู้วาดที่เป็นหลักเรียลลิสติกของชาวตะวันตก และเลือกใช้ตอนในรามเกียรติ์ที่ไม่ค่อยมีผู้ใดใช้ ซึ่งแสดงถึงความทันสมัยในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน

บ้านพิบูลธรรม
ลวดลายนกสดายุบนเพดานห้องโถงอาคารหลังที่ 2

เนื่องจากบ้านนนทีอยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง จึงถูกทิ้งระเบิดจากการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก “หม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล” บุตรของหม่อมราชวงศ์ปุ้ม เจ้าของบ้านในขณะนั้นจึงได้เสนอขายให้แก่รัฐบาล

ภายหลัง “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ได้รับซื้อบ้านหลังนี้และนำมาซ่อมแซมพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านพิบูลธรรม” ใน พ.ศ. 2498 โดยอนุมัติให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการด้วยเงินประมาณ 6 ล้านบาท และเป็นที่รับรองบุคคลสำคัญรวมถึงแขกบ้านแขกเมืองในสมัยนั้น ก่อนขายให้กรมพลังงานแห่งชาติ หรือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบัน ใช้เป็นอาคารสำนักงานมาตั้งเเต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502

บ้านพิบูลธรรม

บ้านพิบูลธรรมเคยถูกใช้เป็นสถานที่ทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในอดีต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนสุดท้ายที่ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำงาน คือ “นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” ซึ่งก็ผ่านมากว่า 12 ปีแล้ว ก่อนที่กระทรวงพลังงานจะย้ายมาอยู่ที่ตึก EnCo ที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี พ.ศ. 2552

จนวันนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะกลับมาใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ทำงานอีกครั้งหนึ่ง

บ้านพิบูลธรรม บ้านพิบูลธรรม บ้านพิบูลธรรม บ้านพิบูลธรรม

ข้อมูลจาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง