ทฤษฎีปลาฉลาม

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

ชาวญี่ปุ่น เป็นชาติที่ชอบบริโภคปลาเป็นชีวิตจิตใจ คนญี่ปุ่นจะรู้ทันทีว่าปลาที่กินสด หรือไม่สด และปกติปลาเป็น (ยังมีชีวิต) มีราคาสูงกว่าปลาตาย (ที่แช่แข็งไว้) มาก

แต่ปัญหาคือเวลาชาวประมงออกเรือ โดยเฉพาะเรือใหญ่ที่จับปลาเป็นอุตสาหกรรม ไม่ได้ไปเช้าเย็นกลับ ดังนั้น ปลาที่จับได้ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องแช่แข็งไว้ จนวันหนึ่งมีคนคิดได้ว่าน่าจะสูบน้ำสักนิดหน่อยมาใส่ไว้ใต้ท้องเรือ แล้วเอาปลาที่จับได้ขังไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้ตายจนกว่าจะถึงฝั่ง แล้วจึงจับขึ้นมาใหม่

นับว่าเป็นความคิดที่เฉียบแหลมมาก ง่าย ๆ แต่ได้ผลดี

Advertisment

ปัญหาทำท่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนญี่ปุ่นกินปลามาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จึงรู้จักปลาเป็นอย่างดี แม้ปลาจะยังสดอยู่ แต่พอปรุงเป็นอาหารแล้วทานเข้าไป ก็รู้ได้ทันทีว่า “รสชาติไม่ดี” อย่างที่ควรจะเป็น

เพราะปลาที่ถูกขังอยู่ใต้ท้องเรือเป็นเวลานานหลายวัน ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ทำให้เนื้อปลาไม่แน่นเหมือนปลาที่อยู่ในทะเล แทนที่จะขายได้ราคาดี ก็กลายเป็นว่าราคาตกไปอีก

แล้วจะทำยังไง ?

หลังจากครุ่นคิดหาหนทางอยู่นานว่าจะทำอย่างไรให้ปลาที่ถูกขังไว้ ยังคงขยันว่ายน้ำเหมือนตอนอยู่ในทะเล ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าต้องใส่ “ปลาฉลาม” สักตัวลงไปใต้ท้องเรือด้วย เพื่อให้ไล่กินปลาที่ถูกขังไว้

Advertisment

แม้ฟังดูจะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยเข้าท่าในตอนแรก แต่ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะปลาเล็กปลาน้อยต่างต้องว่ายน้ำ “หนีตาย” จากการกลายเป็นเหยื่อของฉลามที่คอยไล่กินตลอดเวลา แม้ชาวประมงจะสูญเสียปลาบางส่วนไปเป็นอาหารให้เจ้าฉลาม แต่ก็พบว่าปลาที่เหลืออยู่ทุกตัวแข็งแรงมาก เพราะต้องว่ายน้ำทั้งวันและทุกวัน

ปลาพวกนี้เมื่อถึงฝั่งก็ขายได้ราคาดี คุ้มค่ากับการสูญเสียนิด ๆ หน่อย ๆ แบบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้มีความละเอียดอ่อนมากกว่าแค่หาฉลามมาหนึ่งตัว แล้วโยนใส่ลงไปในบ่อ หัวใจสำคัญคือความพอเหมาะพอเจาะ ทั้งในเรื่องเวลา (ถ้าใส่เร็วไป ปลาเล็กถูกกินหมด ถ้าใส่ช้าไป ปลาส่วนใหญ่อาจไม่ว่ายน้ำแล้ว) จำนวนและขนาดของปลาฉลาม (ใส่มากไปก็เสียหาย ใส่น้อยไปก็ไม่พอจะไล่ปลาอื่น ๆ ใส่ตัวใหญ่ไปก็กินปลาหมดบ่อ ใส่ตัวเล็กไปก็ไม่ได้ผล)

หลักการนี้จึงเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์

แนวคิดทำนองเดียวกันนี้ ภายหลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการคน ในองค์กรยุคปัจจุบันด้วย

องค์กรใดที่พนักงานทำงานเฉื่อย ๆ ชา ๆ ก็มองหาพนักงานสักคนที่มีสไตล์การทำงานแบบดุดัน ถึงลูกถึงคน คอยไล่บี้ ตามจี้คนอื่นอยู่ตลอดเวลา มาเป็น “ปลาฉลาม” ไล่เพื่อน ๆ

จริงอยู่ แม้พนักงาน “ปลาฉลาม” อาจทำให้บรรยากาศโดยรวมเสียไปบ้าง มีคนไม่สบอารมณ์บ้าง มีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ทำให้พนักงานคนอื่น ๆ ตื่นตัว คอยวิ่งหนีปลาฉลามด้วยความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น

บริษัทของผมก็มี “ปลาฉลาม” ที่ถูกใส่เอาไว้ด้วยความตั้งใจ แต่ทุกวันก็คอยเฝ้าระวังไม่ให้ “ปลาฉลาม” ตัวใหญ่เกินไป จนไล่กินปลาเล็กปลาน้อยจนหมดเกลี้ยง

ที่บริษัทของคุณล่ะ มี “ปลาฉลาม” บ้างไหม ?

และใช่คุณรึเปล่า ?