เหตุผลที่จีนคงไม่กล้าตอบโต้ “อียู” แบบแรง ๆ

สี จิ้นผิง ปธน.จีน (กลาง) เอ็มมานูเอล มาครง ปธน.ฝรั่งเศส (ว้าย) และ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (ขวา)
สี จิ้นผิง ปธน.จีน (กลาง) เยือนฝรั่งเศส พบกับเอ็มมานูเอล มาครง ปธน.ฝรั่งเศส (ว้าย) และ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (ขวา) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Ludovic MARIN / AFP)
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี

เรื่องที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากประเทศจีน มีวาทะตอบโต้และเสียงเรียกร้องออกมาจากจีนอย่างต่อเนื่องให้อียูแก้ไขอัตราภาษี มิเช่นนั้นจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้ ซึ่งหากติดตามเรื่องที่จีนเจอกำแพงภาษีมาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าจีนมีปฏิกิริยาต่อกรณีการขึ้นภาษีของอียูมากกว่ากรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีอีวีและสินค้าอีกหลายรายการ

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะการขึ้นภาษีของอียูส่งผลกระทบต่อจีนอย่างแท้จริงกว่าและมากกว่าการขึ้นภาษีของสหรัฐมาก ๆ เนื่องจากอียูเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าจีน คิดเป็นประมาณ 37% ของการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของจีน ขณะที่สหรัฐยังไม่ใช่ตลาดที่สำคัญของจีน ณ เวลานี้

ส่วนเหตุผลประการที่สอง ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างกัน จีนแคร์อียูมากกว่าสหรัฐ เพราะกับสหรัฐนั้นชัดเจนว่าจีนคงไม่สามารถเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์จากคู่แข่งเป็นมิตรได้ ขณะที่กับอียูนั้นจีนหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น และหวังจะทำให้สหรัฐเกิดความคลางแคลงใจกับอียู จนกระทบความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างอียูกับสหรัฐ

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้จีนอาจจะไม่กล้าใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออียู เพราะหากจีนตอบโต้อียูอย่างรุนแรง ก็อาจจะกระตุ้นให้ยุโรปกับสหรัฐอเมริกากระชับความร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อต่อต้านจีน ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะขัดขวางเป้าหมายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ที่ต้องการส่งเสริม “เอกราชทางยุทธศาสตร์” ของสหภาพยุโรป โดยมีความมุ่งหวังที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐลดความแน่นแฟ้นลง

ดังนั้น จึงคาดว่าจีนจะใช้มาตรการที่มีขอบเขตจำกัดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อกระทุ้งอียูไปเรื่อย ๆ แทน

Advertisment

อย่างเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา จีนสั่งสอบสวนต่อต้านการทุ่มตลาดจีนของเนื้อหมูนำเข้าจากอียู ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการที่กำหนดเป้าหมายอย่างแคบ เพราะถึงแม้ว่าจีนเป็นตลาดส่งออกเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป โดยการส่งออกหมูจากสหภาพยุโรปมายังจีน ในปี 2023 มีมูลค่า 1,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 67,296 ล้านบาท) แต่การส่งออกเนื้อหมูก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของการส่งออกทั้งหมดที่สหภาพยุโรปส่งมายังสู่จีน ซึ่งมีมูลค่ารวม 282,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10.37 ล้านล้านบาท) ในปี 2023 ดังนั้น หากจีนต้องการใช้มาตรการแรงจริง ๆ ก็คงไม่จำกัดอยู่ที่เนื้อหมู

หลังจากนั้น จีนก็ส่งเสียงกระตุ้นเตือนอียูแทบไม่เว้นวัน จนนำไปสู่การหารือกันทางโทรศัพท์ระหว่างกรรมาธิการการค้าของอียูกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของจีนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงที่จะเจรจาเรื่องการค้าและภาษีกันใหม่

ผู้สังเกตการณ์มองว่า ผลลัพธ์การเจรจาหารือที่จีนต้องการ คือ สหภาพยุโรปยอมยกเลิกประกาศขึ้นภาษีก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ หากไม่เป็นเช่นนั้น จีนอาจจะฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ว่า อียูละเมิดกฎการค้าเสรีของ WTO

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องไปถึง WTO จริง ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่จีนหวัง เพราะ WTO ถูกมองว่าเป็นเพียง “เสือกระดาษ” ไม่น่าจะเป็นที่พึ่งให้จีนได้เท่าไรนัก

Advertisment

ข่าวที่เกี่ยวข้อง