บทบรรณาธิการ : เดินหน้ากฎหมายสมรสเท่าเทียม

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยสมาชิกวุฒิสภามีมติรับวาระ 2-3 จากผู้ลงมติทั้งหมด 152 คน ในจำนวนนี้ลงมติเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในเวลา 120 วัน

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ทั้งที่ปัจจุบันในข้อเท็จจริงก็มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันในลักษณะ “ครอบครัว” เป็นจำนวนมาก

คู่รักเพศเดียวกันเหล่านี้ขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์แบบครอบครัว ไม่ว่าเป็นสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ไปจนกระทั่งสิทธิในการรับมรดก

สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขก็คือ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จาก กม.สมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย”

Advertisment

และสถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

การให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกใน ASEAN ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จากปัจจุบันที่ในเอเชียมี 2 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวันและเนปาล ที่มีการบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ แต่หากจะนับรวมทั้งโลก ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 38 ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังจากที่เนเธอร์แลนด์ เป็นชาติแรกที่มีกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2544

อย่างไรก็ตาม ภายในระยะเวลา 120 วันหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังคงมี “งาน” อีกมากที่หน่วยงานรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง ทบวง กรม จะต้องแก้ไขกฎระเบียบวิธีปฏิบัติภายใต้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำลังมีผลบังคับใช้ สมกับเจตนารมณ์ที่จะให้กฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดการ “ยอมรับ” ทาง กม.ในการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกัน