ยึดกติกาการเมือง

ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการเมือง เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปร่วมงานอุปสมบทบุตรชายนายกเทศมนตรี ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยกล่าวถึง “คนแถวบ้านในป่า” ในทำนองว่าวุ่นวาย และระบุว่าบ้านเมืองถึงเวลาสงบได้แล้ว

ทุกวันนี้ปัญหาบ้านเมืองยากกว่าตอนที่ตนเองเป็นนายกฯ มันเละมานานแล้ว แม้ระบบราชการจะเปลี่ยนไปมาก อยากให้ช่วยกันทุกฝ่ายยึดกติกาการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เพราะทุกวันนี้ทุกคนพยายามคิดว่าถึงเวลาใครก็เป็นได้ มันต้องมีกติกา ใครอยากจะเป็นก็ต้องมีกติกา เมื่อถามกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่ 40 สว.ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายทักษิณกล่าวว่า เมื่อส่งเรื่องไปแล้ว ก็ต้องดูตั้งแต่เริ่มต้นว่า 40 สว.เป็นคนของใคร และเคลื่อนไหวเพื่ออะไร เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวจะมีปัญหาต่อรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่ารัฐบาลน่าจะตอบได้

คำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณอาจเกี่ยวข้องกับกระแสข่าว 40 สว.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ถูกเชื่อมโยงถึงเกมการเมืองผลักดันผู้นำพรรคอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี คำกล่าวของนายทักษิณเตือนให้ยึดถือกติกาการเมือง

สำหรับกติกาในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้แต่ละพรรคที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เสนอชื่อหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเรียกกันทั่วไปว่า “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” พรรคละไม่เกิน 3 ชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในช่วงสมัครรับเลือกตั้ง บุคคลที่พรรคเสนอชื่อจะมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวให้สมาชิกวุฒิสภากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 2567 เป็นต้นมา กติกาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากวุฒิสภาชุดเดิมที่มีอำนาจร่วมลงมติเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ได้หมดวาระลงแล้ว อยู่ระหว่างการเลือก สว.ชุดใหม่ ซึ่งจะไม่มีอำนาจดังกล่าวอีกต่อไป การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีนับจาก 11 พ.ค. 2567 เป็นต้นมา เป็นบทบาทหน้าที่เฉพาะของสภาผู้แทนฯ ซึ่งเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ ยังรวมตัวกันสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล

ดังนั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์ขณะนี้ หากจะต้องเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องเป็นไปตามกติกาในรัฐธรรมนูญ นั่นคือ หากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคใด บุคคลนั้นก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

แนวปฏิบัติทั่วไป ผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนเป็นนายกฯ จะมาจากพรรคการเมืองที่มี สส.จำนวนมากในสภา เป็นเรื่องยากที่พรรคต่าง ๆ จะสนับสนุนบุคคลจากพรรคที่มีจำนวนเสียงน้อยเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะจะมีผลต่อเสถียรภาพ ความชอบธรรมในฐานะรัฐบาล และในสภาพความเป็นจริง ปัญหานี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่ได้แสดงท่าทีหรือเคลื่อนไหวในเรื่องนี้