เร่งรับมือฝนมากน้ำมาก

rain
บทบรรณาธิการ

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากบริเวณประเทศไทยตอนบน สภาพอากาศมีฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 และต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป ประกอบกับลมชั้นบนที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับความสูงประมาณ 1.5 กิโลเมตรได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนลมชั้นบนที่ระดับความสูงประมาณ 10 กิโลเมตรก็ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่า ฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนฤดูฝนภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2568

สำหรับปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนของทั้งประเทศในปีนี้คาดการณ์ว่า จะใกล้เคียงกับ “ค่าปกติ” และใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (ปี 2566 ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 1) แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีพิเศษที่จะมีทั้งปรากฏการณ์ฝนน้อยน้ำน้อย หรือสภาวะเอลนีโญ กับปรากฏการณ์ฝนมากน้ำมาก หรือสภาวะลานีญา อยู่ในปีเดียวกัน

กล่าวคือ สภาวะเอลนีโญหรือสภาพแห้งแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จะสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วนสภาวะลานีญาที่มีฝนตกหนักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยในช่วงรอยต่อระหว่างกลางเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะ “เป็นกลาง” และมีแนวโน้มว่า ช่วงเป็นกลางนี้จะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงในช่วงสั้น ๆ

ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปรากฏมีปริมาณน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2567 รวมกัน 14,775 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง “ต่ำกว่า” ปริมาณน้ำใช้การได้ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีปริมาณ 16,327 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่า 1,552 ล้าน ลบ.ม.

Advertisment

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาเกินไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานที่มีการปลูกข้าวเกินกว่าแผนที่กำหนด แต่ปริมาณน้ำที่น้อยกว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำใช้การได้ โดยรวมสำหรับปีนี้ เนื่องจากตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สภาวะลานีญา ที่จะมีฝนตกชุกมากกว่าปีปกติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งบริหารจัดการน้ำเสียตั้งแต่ต้นฤดูฝนในปีนี้ก็คือ การคาดการณ์และติดตามสภาวะความปรวนแปรของอากาศอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนที่ยังไม่มีแบบจำลองใด ๆ ที่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ ผลของสภาวการณ์นี้อาจจะทำให้เกิดฝนตกหนักและมีจำนวนพายุพัดผ่านประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งตรวจสอบสภาพความมั่นคงปลอดภัยของคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ ติดตามปริมาตรน้ำในเขื่อน และมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุจากการเกิดอุทกภัยอย่างฉับพลันให้มากกว่าปีปกติที่ดำเนินการกันมา