เปิดแผนรับมือน้ำแล้ง EEC เอกชนหวั่นแผนผันน้ำภาคตะวันออกสะดุด

ท่อส่งน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออกใกล้ที่จะอยู่ในภาวะวิกฤต หลังครึ่งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏมีปริมาณฝนตกลงในพื้นที่ไม่มากนักและน้ำฝนส่วนใหญ่ไม่ได้ไหลลงอ่าง โดยปริมาตรน้ำใช้การได้จาก 6 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (ขุนด่านปราการชล-คลองสียัด-บางพระ-หนองปลาไหล-ประแสร์-นฤบดินทรจินดา) รวมกันแค่ 433 ล้าน ลบ.ม. ต้องระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภควันละ 2.88 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาตรน้ำไหลเข้าอ่างวันละ 1.76 ล้าน ลบ.ม. (11 ก.ค. 2566) เท่านั้น

มีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าปกติในภาคตะวันออกเป็นผลมาจากการเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” หรือภาวะฝนน้อยน้ำน้อยที่จะกินเวลาไปจนถึงกลางปี 2567 และอาจจะลากยาวมากกว่านั้น ส่งผลปริมาณน้ำโดยรวมในภาคตะวันออกจะลดลงไปประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ประกอบการและประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะประสบภาวะการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567 ในขณะที่กรมชลประทานเองได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกไว้ 3 แนวทางไว้แล้ว

โดย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เบื้องต้นมี 3 แนวทาง โดยมีอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จะเป็น “ฮับ” เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำ ได้แก่ 1) อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง กับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง 2) อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี มีเครื่องมือที่จะผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง กับคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต

และ 3) จะใช้น้ำจากวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งกรมชลประทานมีเครื่องมืออยู่แล้ว โดยสูบน้ำจากวังโตนด ลุ่มน้ำจันทบุรี มาลงที่อ่างประแสร์ไปอ่างคลองใหญ่-หนองปลาไหลได้ จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปี มีการปล่อยน้ำทิ้งจากคลองวังโตนดลงทะเลปีละ 1,000 ล้าน ลบ.ม. และปีหนึ่งจะสามารถผันน้ำได้ 70 ล้าน ลบ.ม. เพราะเคยมีการผันมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2563

โครงข่ายท่อส่งน้ำอีอีซี1

Advertisment

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 9 มีแผนที่จะสูบน้ำจากคลองสะพาน ไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ศักยภาพสูงสุดได้มากถึง 470,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่ปัจจุบันมีน้ำอยู่ 188 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63.97% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น จนสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำไปช่วยในการผลิตน้ำประปา และอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อรักษาระดับน้ำและคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาของจังหวัดชลบุรีต่อไป พร้อมกับการเตรียมระบบสูบกลับน้ำทั้งโครงข่าย อาทิ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ก่อนจะผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เองก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวโดยเห็นว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข 2 เรื่อง คือ 1) ความพร้อมของระบบสูบน้ำในภาคตะวันออก โดยพบว่าระบบสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำวังประดู่ เพื่อสูบน้ำจากลุ่มน้ำจันทบุรี (อ่างประแกด) ผ่านท่อส่งน้ำของกรมชลประทาน (ท่อวังโตนด-อ่างประแสร์) นั้น “ยังไม่ได้รับการแก้ไข”

2) ระบบสูบน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์มีปัญหา (ท่อส่งน้ำที่อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผู้บริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (อีสท์วอเตอร์) มาเป็นบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ชนะการประมูลรายใหม่) ทำให้ต้องใช้ระบบสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-คลองใหญ่ ที่จะต้องนำน้ำมาลง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล แทน แต่ระบบการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

Advertisment

และ 3) มีการใช้น้ำจาก “อ่างเก็บน้ำบางพระ” มากจนเกินไป และจะกระทบกับปริมาณเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เมืองพัทยา และจังหวัดชลบุรี ในฤดูแล้งนี้ หากยังไม่มีฝนตกลงมาเพื่อเติมน้ำในแหล่งน้ำในพื้นที่

แน่นอนว่าปัญหาการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งถือเป็นอ่างหลักที่สามารถรับน้ำจากลุ่มน้ำจันทบุรี เพื่อมาเติมน้ำในระบบอ่างพวง หนองปลาไหล-ดอกกราย-หนองค้อ-บางพระ เกี่ยวพันกับผู้บริหารระบบท่อส่งน้ำ เพราะเส้นท่อปัจจุบันที่เชื่อมระหว่างอ่างมีทั้ง เส้นท่อของบริษัท อีสท์วอเตอร์, เส้นท่อของกรมธนารักษ์ ที่โอนมาให้กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง, เส้นท่อของการประปา, เส้นท่อของกรมชลประทาน และระบบคลองระบายน้ำ หรือต่างเส้นท่อที่มี “ค่าใช้จ่าย” ในการดำเนินการ ถ้าจะมีการเชื่อมระบบเข้าด้วยกัน

ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกใหม่ จึงเกิดปรากฏการณ์ความไม่ลงตัวในระบบการผันน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ขึ้น จนกลายมาเป็น “ปมปัญหา” ความไม่ราบรื่นในการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ทั้ง ๆ ที่ต้องเร่งผันน้ำเข้ามาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนให้มากที่สุด ก่อนที่ทั้งประเทศจะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างยาวนาน

ประกอบกับอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือ หากต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เข้ามาช่วยจังหวัดระยองและชลบุรี ตามแผนการผันน้ำของกรมชลประทานที่วางเอาไว้ ที่ผ่านมาในอดีตเป็นที่ทราบกันดีว่าจะต้องขออนุญาตจาก คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งก็เป็นห่วงกันว่าถ้าผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนดมาแล้ว จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จันทบุรี ซึ่งประกอบไปด้วยสวนผลไม้ที่ต้องการน้ำในปริมาณมาก

โดยการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนดในอดีตถึงกับต้องมีการจัดทำ “ข้อตกลง” เป็นการยินยอมระหว่างกันมาแล้ว ดังนั้นการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนดจึงไม่ได้ง่าย หากมีความต้องการน้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้น

กลายเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกที่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ “อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้” พร้อม ๆ กับเริ่มมีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชน ขอให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ควรจะเข้ามาแก้ไขข้อติดขัดและข้อปัญหาโดยด่วน ก่อนที่ “น้ำ” จะหมดไปหลังสิ้นสุดฤดูฝนนี้