โบรกชี้ Q2 แบงก์กำไรต่ำสุด ส่วนต่าง ดบ.ลด-NPL อ่วมสำรองหนี้พุ่ง

นักวิเคราะห์ส่องกำไรกลุ่มแบงก์งวดไตรมาส 2/60 แตะ 5 หมื่นล้านบาท คาดต่ำสุดในรอบปี แถมหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ค่ายเอเซีย พลัส คาดทำได้ 5 หมื่นล้านบาท หดตัว 3% จาก Q1/60 เหตุ NIM ลด บวกภาระตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม พร้อมประเมิน Q3/60 แบงก์พลิกกลับทำกำไรสูงสุดในรอบปีนี้ คาดการณ์ทั้งปียังโกยกำไรอู้ฟู่ 2.15 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 7% จากปี′59 ฟากทิสโก้ ชี้แบงก์กรุงไทยเพลีย แบกภาระสำรองหนี้เสียก้อนใหญ่ของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ส่งซิกแรงเก็งกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ เหตุช่วงที่ผ่านมาราคาขึ้นไม่สูงมาก

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า ภาพรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 2/60 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) จำนวน 10 แห่ง ประเมินว่าจะมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 50,248 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงประมาณ 3.1% จากไตรมาส 1/60 ที่ทำได้ 51,864 ล้านบาท และลดลงเล็กน้อย 0.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 50,286 ล้านบาท

สาเหตุที่กำไรแบงก์ปรับตัวลดลง มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ ปัจจัยแรก รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ลง 0.50% ของกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ในช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) สุทธิลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.04% ปัจจัยต่อมา ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ตามตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น และปัจจัยสุดท้าย รายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งกดดันด้วยค่าฟีจากธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ตามมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมที่ลดลง

คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส2นี้น่าจะเป็นงวดต่ำสุดของรอบปีนี้ โดยเฉพาะแรงกดดันจากแบงก์ขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารทหารไทย (TMB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่กำไรหดตัวจากการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นตามตัวเลข NPL ที่คาดปรับตัวขึ้นมาระดับ 3.4% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2% โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นส่วนมากกระจุกอยู่ในสินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรายใหญ่ในบางอุตสาหกรรมŽ นางสาวอุษณีย์กล่าว

Advertisment

ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 3/60 คาดว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง และน่าจะสูงสุดของรอบปีนี้ ประเมินจากทิศทางการตั้งสำรองหนี้ที่จะปรับตัวลดลง หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แบงก์ขนาดใหญ่มีการตั้งสำรองหนี้ค่อนข้างมากแล้ว ประกอบกับสินเชื่อในครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งจะหนุนให้รายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของแบงก์ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ประมาณการกำไรโดยรวมของกลุ่มแบงก์ทั้งปีนี้ จะเติบโตประมาณ 7.2% จากปีก่อนหรืออยู่ที่ราว 215,834 ล้านบาท

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า คาดว่ากำไรสุทธิของแบงก์ (ครอบคลุม 8 แห่ง) โดยรวมอยู่ที่ระดับ 4.9 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลง 2% จากไตรมาส 1/60 ที่ทำได้ 49,787 ล้านบาท แต่จะเติบโตราว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 48,276 ล้านบาท โดยจะมีทั้งแบงก์ที่สามารถทำกำไรเป็นบวกและลบคละกัน โดยแบงก์ที่คาดการณ์เติบโตมากที่สุดคือ BBL ขณะที่ KTB คาดว่าจะเป็นแบงก์ที่กำไร ลดลงŽ มากที่สุด เนื่องจาก KTB มีภาระจัดชั้นสินเชื่อของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่เป็น NPL ซึ่งจะกดดันให้ KTB ต้องตั้งสำรองหนี้สูงขึ้น จึงมีผลกระทบต่อกำไรของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ทิสโก้เห็นว่า สัญญาณราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ยังน่าสนใจ เนื่องจากประเมินมูลค่าหุ้นแล้วถือว่ายังค่อนข้างถูก เพราะช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์ยังไม่ค่อยขยับขึ้นไปมากนัก และเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไหลเข้ามาน้อย จึงเหมาะสมในการซื้อลงทุนในช่วงระยะยาว นอกจากนี้ ในระยะสั้นคาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มแบงก์ เพื่อเก็งกำไรในหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการจะออกมาดี เพราะกลุ่มแบงก์ถือเป็นกลุ่มที่จะทยอยประกาศงบออกมาเป็นกลุ่มแรก โดยเลือก BBL และ TMB เป็นตัวที่โดดเด่นสุดของกลุ่ม เนื่องจากคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะเติบโตดีมากกว่าแบงก์อื่น ๆ

เรามองว่าช่วงไตรมาส 3-4 กำไรแบงก์น่าจะทยอยฟื้นตัวหลังจากที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยคาดว่าไตรมาส 2 น่าจะเป็นช่วงจุดต่ำสุดของกลุ่มแบงก์ในปีนี้Ž นายอภิชาติกล่าว

Advertisment