ศิริราช แนะ ‘รู้โรค เข้าใจ ระบบกระดูก ข้อต่อ และเส้นประสาท ผู้สูงอายุ’ งาน Thailand Healthcare 2024

หนึ่งในปัญหาสุขภาพสำคัญของผู้สูงอายุและพบเจอได้บ่อยก็คือเรื่องของกระดูก เพราะเมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะในร่างกายก็ค่อย ๆ เสื่อมถอย บางโรคกินยาแล้วก็ช่วยให้ทุเลาอาการได้ แต่กระดูกและข้อที่มีปัญหายิ่งทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันด้วยความยากลำบาก

ในงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’ งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 28-30 มิถุนายน 2567 ที่สามย่านมิตรทาวน์ นอกจากไฮไลต์ตรวจสุขภาพฟรีแล้ว ยังมีเสวนากับบรรดาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ รวมถึง ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ ‘รู้โรค เข้าใจ ระบบกระดูก ข้อต่อ และเส้นประสาท ผู้สูงอายุ’

 

การขยับคือยาวิเศษ

คุณหมออธิบายคำว่า ออร์โธปิดิกส์หมายถึงศาสตร์การดูแลผู้ป่วยในระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย ประกอบไปด้วยกระดูก ข้อต่อ เอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ทั้งหมดจะทำงานไปด้วยกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย การจะทำให้อวัยวะเหล่านี้เสื่อมช้าที่สุด จะต้องใช้วิธี ‘Motion is Medicine’ หรือ ‘ขยับคือยา’ ทุกวันทุกนาทีต้องพยายามขยับ เคลื่อนไหวร่างกาย

Advertisment

“กระดูกมีความสำคัญอย่างแรกคือปกป้องอวัยวะภายใน เช่น กะโหลกศีรษะปกป้องสมอง ซี่โครงปกป้องตับ ม้าม ไต หัวใจ ฯลฯ กระดูกสันหลังก็เป็นโครงสร้างหลักที่ทำให้ร่างกายตรง โค้ง หรือก้มเงย เพราะกระดูกคือชีวิต เป็นตัวสร้างเม็ดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งมีความสำคัญในด้านหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย หากเม็ดเลือดขาดคุณภาพเพราะไขกระดูกไม่ดี ย่อมส่งผลถึงอวัยวะในร่างกาย”

ขณะเดียวกัน กระดูกจะขยับขับเคลื่อนต้องมีกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ เช่น แขน ต้นขา น่อง โดยกล้ามเนื้อจะยึดตึงกับข้อต่อต่าง ๆ ทำให้ร่างกายขยับ หมุนคอ เอียงซ้าย-ขวา

“ระบบต่อไปที่สำคัญคือ ระบบข้อต่อกระดูกอ่อน ซึ่งมีความหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ทำให้ข้อขยับได้ไม่มีเสียง และลื่น ลักษณะคล้ายฟองน้ำ เวลามีแรงกดก็จะนำน้ำออก และเมื่ออายุ 30-40 ปี ความชราเริ่มมาเยือน กระดูกจะหายไปปีละ 1% เพียงแต่ไม่มีอาการเพราะยังเสื่อมน้อย ดังนั้น ช่วงเวลาตั้งแต่วัยรุ่นจนถึง 25 ปีจะต้องสะสมกระดูกให้มากที่สุด”

กระดูกที่แข็งแรงยังมาจากกล้ามเนื้อ เพราะเมื่อกระดูกขยับ กล้ามเนื้อจะรับแรงกระแทก หากกล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกก็จะแข็งแรง อวัยวะทุกอวัยวะในร่างกาย หากเสื่อมสลายไปแล้วจะไม่กลับมาสมบูรณ์อีก ยกเว้นกล้ามเนื้อ จึงต้องทำให้กล้ามเนื้อทำงานเยอะ ๆ ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ไม่ต้องกังวล ให้หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อ เมื่อกระดูกแข็งแรงแล้ว จะตามมาด้วยอวัยวะอื่น ๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต ปอด ทุกคนจึงต้องดูแลให้ความสำคัญกับระบบเคลื่อนไหวของร่างกาย

Advertisment

‘ออกกำลังกาย อาหาร พักผ่อน’ ตัวช่วยร่างกายแข็งแรง

ศ.นพ.กีรติ ให้ความรู้ 3 โรคยอดฮิตเกี่ยวกับกระดูกผู้สูงวัย เริ่มจาก โรคกระดูกพรุน โรคที่กระดูกมีภาวะความหนาแน่นลดลง โครงสร้างเนื้อกระดูกเสื่อม ความอันตรายของกระดูกพรุนนั้น เพียงแรงกระแทกธรรมดากระดูกก็หักได้ 

“ต้องป้องกันดูแลเพื่อไม่ให้ลงไปถึงภาวะกระดูกพรุน เพราะจะทำให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น กระดูกสันหลังยุบ หากหกล้มก้นกระแทกกระดูกจะยุบได้ การป้องกันไม่ให้กระดูกพรุนทำได้ด้วยการเดิน โดยเฉพาะการเดินในวัยสูงอายุเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่มีแรงกระแทกข้อต่อกระดูก จะทำให้กระดูกดูดซึมแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกมีความหนา ย้ำว่าการเดินหรือเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจะทำให้กล้ามเนื้อดี กระดูกก็แข็งแรง โดยเดินวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ขอให้เดินช่วงที่มีแดดเล็กน้อย เพราะทำให้สร้างวิตามินดี ส่งผลให้เกิดการดูดซึมแคลเซียมได้ดี”

‘แคลเซียม’ เป็นอาหารที่ดีสำหรับกระดูก อาหารที่มีแคลเซียมเยอะคือนมกับเนย กระดูกปลาตัวเล็กตัวน้อย ถั่ว งาขาว งาดำ ศ.นพ.กีรติเล่าว่า เคยมีการวิจัยเมนูอาหารยอดฮิตอย่างผัดกะเพรา ซึ่งให้ปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ก็คือ 1,000 มิลลิกรัม ดังนั้น จึงอาจเสริมด้วยนมที่ไม่ใช่นมพร่องมันเนย หรือกินแคลเซียมเสริม แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่ควรได้รับ เพราะอาจท้องผูกได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุที่มักจะท้องผูกอยู่แล้ว จากนั้นพักผ่อนด้วยการนอนให้เพียงพอและหลับลึก นอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อ 1 วัน จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลหมอ

ฟิตกล้ามเนื้อต้อง ‘กินถึง ออกถึง’

“อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า อวัยวะเดียวที่หายไปแล้ว สร้างกลับมาได้ก็คือกล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อจะหายจากการไม่ใช้งาน ไม่ได้แบกน้ำหนัก สำหรับคนที่อายุเกิน 40 ปี เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี กล้ามเนื้อจะหาย 1% ผ่านไป 10 ปีก็หาย 10% คนมีอายุจึงล้มง่ายและลุกยาก เพราะกล้ามเนื้อไม่ดี เรียกว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดจากการที่อายุเยอะขึ้น รับประทานโปรตีนเช่นเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ รวมถึงพฤติกรรมเนือย นิ่ง นอน ทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอลง แม้แต่บางโรคเรื้อรังอย่างไตวายก็ทำให้เสียกล้ามเนื้อเช่นกัน” 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการเริ่มต้นของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง วิธีทดสอบง่าย ๆ ด้วยตัวเองโดยการนั่งเก้าอี้ กอดอกแล้วลุกขึ้นยืนภายใน 10 วินาที ส่วนผู้สูงวัยท่านไหนที่ลุกแล้วเดินได้เลยแสดงว่ายังแข็งแรง 

“ต้องหมั่นออกกำลังกาย กินโปรตีนให้เพียงพอ การที่กล้ามเนื้อจะแข็งแรงได้ต้องทำให้เหนื่อย ออกแรงให้สู้กับแรงต้านทาน เช่น ยกดัมเบล หรือเดินขึ้นบันได 1 ก้าวแล้วลง 1 ก้าว และต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ขัดขวางความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างการดื่มสุรา สูบบุหรี่ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหายไปอย่างรวดเร็ว”

ข้อเสื่อม รักษาได้

อีกโรคยอดฮิตเหล่า สว.ก็คือ โรคข้อเสื่อม ศ.นพ.กีรติบอกว่า คนไทยจะต่างจากคนยุโรปซึ่งส่วนใหญ่ข้อสะโพกเสื่อม เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมใช้ชีวิตกับพื้นเป็นกิจวัตร (Floor Life) อย่างการนั่งยอง ขัดสมาธิ พับเพียบ 

“ข้อเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย เพราะต้องรับน้ำหนักทั้งตัว เวลาเล่นกีฬาแรง ๆ แล้วเอ็นขาด เกิดจากแรงกระแทกที่เยอะเกินซ่อมได้ ซึ่งแรงกระแทกนั้นก็มาจากน้ำหนักตัวที่เยอะ ให้สังเกตอาการแรกเริ่มของข้อเสื่อม เช่น มีเสียงกรอบแกรบ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือน เวลาลุกยืนต้องตั้งหลัก แต่หากเป็นมากขาจะโก่ง ปัจจัยเสี่ยงมาจากอายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวเยอะเกิน มีแรงกระแทก “

อย่างไรก็ตาม ข้อเสื่อมมีวิธีป้องกัน ดูแล และรักษาได้ โดยการควบคุมน้ำหนักตัว และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง จะช่วยลดข้อเข่าเสื่อมได้ วิธีออกกำลังข้อเข่าง่าย ๆ โดยนั่งเก้าอี้ หลังพิงพนักให้ตรง แล้วยกขาขึ้นนับ 10 วินาที สลับซ้าย-ขวา ทำอย่างนี้วันละ 5 นาทีจะช่วยได้

หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด โรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงการรักษาทำได้ด้วยการกินยาหรือฉีดยา บางรายอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนาการก้าวหน้าไปถึงการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ให้ความแม่นยำสูง ที่โรงพยาบาลศิริราชผ่าเช้ากลับเย็น ต่างจากในอดีตต้องรอดูอาการ ปรับสภาพ ทำกายภาพฝึกเดิน 2-3 สัปดาห์ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า

“การจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่เป็นภาระใคร ต้องดูแลตัวเองให้ดี ด้วย อาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกล้ามเนื้อ จะต้องสร้างทุกวันเพื่อให้กล้ามเนื้อไปสร้างให้กระดูกแข็งแรงต่อ กระดูกที่แข็งแรงจะทำให้อวัยวะอื่น ๆ แข็งแรง ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นปกติสุขได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง