ย้อนรอยความสัมพันธ์อินเดีย-ไทย และ “มองอินเดียใหม่” ต่อจากนี้

Navesh Chitrakar/Reuters via AP, Pool

แปลจากบทความ India -Thailand Relations: A Strategic Review โดย Shristi Pukhrem

เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจ

 

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทย ได้ถูกสถาปนาขึ้นมานานหลายศตวรรษ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกยกระดับให้มีความสำคัญมากขึ้น ด้วยการดำเนินนโยบาย “มองตะวันออก” ในปี 1992 สู่นโยบาย “รุกตะวันออก” ในปี 2014 ของอินเดีย ควบคู่กับนโยบาย “มองตะวันตก” ในปี 1996 ของประเทศไทย ทำให้ความสัมพันธ์ 2 ประเทศยกระดับสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

นอกเหนือจากความพยายามในการการขยายความร่วมมือด้านการค้า  การพัฒนา และความสงบสุขในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนด้านการเมืองและความสัมพันธ์เชิงการทูต อินเดียยังเล็งใช้ประโยชน์จากภูมิยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการเข้าถึงตลาดอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประชากรกว่า 630 ล้านคนและมีจีดีพีสูงถึง 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมมากขึ้นในความร่วมมือในข้อตกลงความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ความร่วมมือด้านแม่น้ำโขง (MGC) และความร่วมมืออื่นๆ เช่น สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA)

ปัจจุบัน มีเที่ยวบินกว่า 150 เที่ยวบินให้บริการระหว่าง 2 ประเทศต่อสัปดาห์ ชาวอินเดียเดินทางเยือนประเทศไทยกว่า 1 ล้านคนต่อปี ทั้งในฐานะนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ทำให้มีความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคง การศึกษา เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

ที่ตั้งของประเทศไทยซึ่งอยู่ใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นประตูสำคัญ ที่เชื่อมระหว่างอินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ในเชิงการทูตอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-เมียนมา เพื่อนำไปสู่โปรเจ็กต์ความร่วมมือระดับภูมิภาคได้ เช่น ไฮเวย์เชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค้าด้านค้าและการลงทุนในพื้นที่ที่พาดผ่านได้

และจากตำแหน่งภูมิศาสตร์ อินเดียและไทย ยังสามารถร่วมกันดำรงบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาภายในของประเทศเมียนมาร่วมกันได้ด้วย นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ และประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาค ยังถือเป็นเครื่องมือในการต้านทานการขยายแผ่อิทธิพลของประเทศจีนในอาเซียนสำคัญอีกด้วย

ทั้งนี้ อินเดียและไทย มีความสัมพันธ์เหนือน่านน้ำบนอ่าวเบงกอล  ซึ่งทั้ง 2 ประเทศกำลังจับตาการขยายอำนาจเหนือน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดียของประเทศจีนอย่างใกล้ชิด

มหาสมุทรอินเดียถือเป็นภูมิยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง ผลักดันให้อินเดียก้าวสู่บทบาทเชิงรุกในการร่วมมือฝึกปฏิบัติการลาดตระเวนร่วมกับไทยและอินโดนีเซีย และได้เสนอให้มีการรวมตัวกันของประเทศชายฝั่งเพื่อดำเนินโครงการ “อายส์ อิน เดอะ สกาย” (Eyes in the sky) เพื่อตรวจตราหากมีใครละเมิดพื้นที่ช่องแคบมะละกา

โดยนาวิกโยธินไทยและอินเดีย ได้ร่วมกันกันลาดตระเวนทางทะเลตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันการก่อการร้าย การลักลอบนำเข้าสินค้าสู่ทะเลอันดามัน และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนการฝึกการอบรมด้านการฝึกทหารระหว่างกันด้วย

ในแง่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่า อินเดียและไทยมีความเชื่อมโยงอย่างมากและลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของศาสนาพุทธ วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ และวัฒนธรรมฮินดูที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งในด้านศาสนา สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และธรรมเนียมปฏิบัติ

ทั้ง 2 ประเทศยังเชื่อมโยงในแง่ของชาติพันธุ์ด้วย ในประเทศไทยมีชาวอินเดียพลัดถิ่นมากถึง 250,000 คน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยและอินเดียมีความแนบแน่นเพิ่มมากขึ้นจากพื้นฐานทางวัฒนธรรม  

ปัจจุบัน เศรษฐกิจอินเดียถือว่าเติบโตสูงอันดับต้นๆ ของโลก โดยประมาณการณ์ว่าจะสูงถึง 7.3% ต่อปี นโยบายเชิงรุกของรัฐบาลนเรนทรา โมดี อันได้แก่  “เมค อิน อินเดีย” (Make in India) “สกิล อินเดีย” (Skill India) “สมาร์ท ซิตี” (Smart Cities) “ดิจิทัล อินเดีย” (Digital India) รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีสินค้าและบริการ (GST) ได้ดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติมายังประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นกว่า 40%

ทั้งนี้ มีบริษัทสัญชาติไทยตั้งในแดนภรตะราว 30 บริษัท โดยบางบริษัทก่อตั้งขึ้นกว่า 20 ปี ขณะที่มีบริษัทอินเดียกว่า 40 รายเข้ามาลงทุนในไทยเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การค้าระหว่างอินเดีย-อาเซียน อยู่ที่ราว 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดียคิดเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของอาเซียน โดยทั้ง 2 มีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันโดยเร็วที่สุด ในปี 2016 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เดินทางเยือนอาเซียน พร้อมให้คำมั่นสัญญาในการผลักดันข้อตกลงฯให้เกิดขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้อง “มองอินเดียใหม่” ในฐานะประเทศเอเชียที่เติบโตไวที่สุดในโลก ซึ่งจะสามารถก้าวเข้ามาอยู่เป็นผู้นำภูมิภาคในด้านความยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพ ขณะเดียวกัน อินเดียก็ต้อง “มองประเทศไทยใหม่” อย่างเต็มศักยภาพในฐานะศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน สิ่งสำคัญระหว่างกันคือการมุ่งเน้นด้านการค้าและการลงทุนแบบสองทิศทาง และต้องไม่ลืมความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ช่วยเชื่อมผู้คน (people-to-people) เข้าด้วยกัน และถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่อินเดียสามารถใช้โปรโมตประเทศได้เป็นอย่างดี

เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ 2 ประเทศพึงมีต่อกันท่ามกลางความวิตกกังวลของการเรืองอำนาจของประเทศจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จึงอาจกล่าวได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลนิวเดลีจะแสวงหาโอกาสจากไมตรีจิตอันดีที่มีต่อรัฐบาลแห่งประเทศไทย

 

 

ดร. Shristi Pukhrem ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัย India Foundation งานวิจัยของเธอส่วนใหญ่เน้นในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและอาเซียน  เธอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru กรุงนิวเดลี และได้รับทุนเพื่อศึกษา ณ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนเมษายน 2016 บทความนี้เธอเขียนขึ้นเพื่อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน โดยปี 2017 ที่ผ่านมา เป็นปีครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียและไทย

[email protected]