ไพบูลย์ ท็อปฟอร์ม อวย ประยุทธ์ “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี”

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” อภิปรายอวย พล.อ. ประยุทธ์ เป็นเลิศในเรื่องความจงรักภักดี มีความสามารถที่จะปกป้องสถาบันฯ อย่างไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้

วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 แบ่งออกเป็นฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 5 ชั่วโมง และประธานสภาและรองประธาน 2 ชั่วโมง รวม 25 ชั่วโมง คาดว่าการประชุมในวันแรกจะจบเวลา 22.30 น. หรือ 23.00 น. หรืออาจจะ 00.00 น. ทั้งนี้การอภิปรายเป็นการถ่ายทอดสดสมาชิกสภาจึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง จึงต้องรับผิดชอบการอภิปรายในทางอาญา

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ก่อตัวและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยเฉพาะวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมได้เหิมเกริม บังอาจกระทำการขวางทางและหยุดขบวนเสด็จ ฯ มุ่งร้าย เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2.ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของภาคประชาชน หรือ ฉบับไอลอว์ และ 3.ปฏิรูปสถาบัน

“เป้าหมายของผู้ชุมนุม คือ ข้อที่ 3 เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงและลดสถานะสถาบัน และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ให้เป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ”

เมื่อนายไพบูลย์พูดมาถึงช่วงนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เตือนนายไพบูลย์เป็นครั้งที่สอง “ขอให้ใช้ถ้อยคำในญัตติเท่านั้น” คำว่า ปฏิรูปสถาบันได้ แต่นอกเหนือจากนี้ “ขอ” เพราะจะไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหา แต่จะเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้น

นายไพบูลย์อภิปรายต่อไปว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผู้ชุมนุม คือ ข้อที่ 3 จึงต้องเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“เพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็นเลิศในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดครับ และเป็นผู้ที่เข้มแข็ง มีความสามารถที่จะปกป้อง รักษาไว้ซึ่งสถาบัน อย่างไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้ และพล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้โดยตลอดว่า อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดีต่อสถาบัน”

พอมาถึงช่วงนี้ นายพิเชษ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ว่า ขอประท้วงนายไพบูลย์ตามข้อบังคับข้อที่ 45 ท่านไม่ได้ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้เจ้าตัวพูดเอง ความจงรักภักดีเป็นเรื่องของบุคคล ท่านไม่ต้องพูดแทนเขา ให้เขาพูดเองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จงรักภักดีขนาดไหน

นายไพบูลย์อภิปรายต่อว่า เมื่อผู้ชุมนุมคิดว่า เมื่อกดดันพล.อ.ประยุทธ์ลาออกเพื่อให้ฝ่ายปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลง และรุกคืบไปสู่การปฏิรูปสถาบัน

“ผมจึงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอยู่ในตำแหน่ง ต้องทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงต่อไปและบริหารประเทศให้พ้นวิกฤตโควิด แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ อย่าไปลาออก ที่มีเพียงไม่กี่หมื่นคน ต้องคำนึงถึงคน 8.4 ล้านคน ที่เลือกท่านมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี”

นายไพบูลย์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งคุ้มครองสถาบันไว้หลายประการ ยกเลิกที่เกี่ยวกับสถาบันหลาย ๆ จุด ชัดเจนมาก คือ การตั้งส.ส.ร.โดยไม่ห้ามผู้ติดยาเสพติด ผู้ถูกเบิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ห้ามผู้ที่ต้องการพิพากษาให้จำคุก เพื่อเปิดช่องให้แกนนำและเครือข่ายผู้ชุมนุมที่จาบจ้วงสถาบัน ที่เป็นอดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ให้เป็น ส.ส.ร.เพื่อใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองการเผยแพร่ลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบ

เมื่อมาถึงช่วงนี้ นายชวนให้ถอนคำว่า อนาคตใหม่ ซึ่งนายไพบูลย์ยอมถอน และอภิปรายต่อไปว่า ข้อเสนอ 3 ข้อของผู้ชุมนุมต้องเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก่อน เพื่อไปสู้ข้อที่ 2 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีปัญหากับสถาบัน เพื่อมุ่งไปสู่ข้อที่ 3 คือ ปฏิรูปสถาบัน

“การกระทำดังกล่าวนั้น คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญที่ 3 /2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เขียนไว้ชัดเจนครับ กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากปรากฎว่าพรรคการเมืองใด ผู้บริหารพรรคการเมืองใด หรือ ส.ส.ของพรรคการเมืองใด ไปเข้าร่วมชุมนุม หรือ เข้าร่วมกับผู้ชุมนุมด้วยวิธีใดก็ตาม รวมถึงการเสนอตั้งกรรมการปฏิรูปสถาบันด้วย ท่านจะเข้าข่ายสนับสนุนการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินคดีอาญา และพรรคการเมืองนั้นอาจจะถูกยุบ”

นายไพบูลย์กล่าวว่า การเรียกร้องให้ยุบสภา ขอเสนอให้ตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การออกเสียงประชามติ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภา จึงสามารถออกพ.ร.ก.ประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 เพื่อให้คนทั้งประเทศออกเสียงตัดสินว่า ประชาชน 66.5 ล้านคน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม

ชมคลิป โมเดลแก้รัฐธรรมนูญ ตะล่อมแฟลชม็อบ ลีลา “ไพบูลย์ นิติตะวัน”