รัฐบาลติดกับดัก “แก้รัฐธรรมนูญ” จ่าย 9 พันล้าน ฝ่า 3 ด่านประชามติ

ประชามติ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ดูเหมือน “ธง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้น หมวด 1 หมวด 2 เสี่ยงถึง “ทางตัน” เสียแล้ว

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 0 ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภา ที่ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติกี่ครั้ง

ที่มาลดจำนวนประชามติ

เรื่องของเรื่อง ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุตอนหนึ่งว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

นำมาสู่ปัญหาที่ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง โดยคณะกรรมการศึกษาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มีการสรุปว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง

ครั้งแรก ถามประชาชนว่าเห็นชอบกับการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

ครั้งที่สอง ทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ที่ “บังคับไว้” ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ

ครั้งที่สาม ทำภายหลังที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วเพื่อไปขอความเห็นจากประชาชน

พรรคเพื่อไทยจึงเดินเกมเพื่อไม่ให้ทำประชามติถึง 3 ด่าน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหอกกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่า การทำประชามติสามารถลดเหลือ 2 ครั้งได้ โดยให้ครั้งแรกกับครั้งที่สองทำประชามติภายในครั้งเดียวกัน

กล่าวคือสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อแก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญและเพิ่มเติมหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปก่อนได้

จากนั้นเมื่อรัฐสภาอนุมัติร่างแก้ไข มาตรา 256 ในวาระ 3 แล้วจึงไปสอบถามประชาชนใน 2 ประเด็นคือ เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยถามพร้อมไปกับคำถามที่ว่า เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขณะที่สอบถามก็ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น จึงถือได้ว่าได้สอบถามประชาชนก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุมัติ

ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยจึงชงให้ที่ประชุมรัฐสภา ขอเสียงให้อนุมัติส่งเรื่องผ่านประธานรัฐสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความ เมื่อ 29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 233 ต่อ 103 ให้

เวลาผ่านไปเกือบครึ่งเดือน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ดังนี้

1.การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 119

“ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา”

2.คำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยละเอียดและชัดเจนแล้ว

“ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”

ฝ่า 3 ด่านประชามติ

ชอตต่อไปเป็นไฟต์บังคับให้การทำ “ประชามติ” จะต้องทำถึง 3 ครั้ง ซึ่งแหล่งข่าวจากฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็น “หนทางที่ปลอดภัยที่สุด” แม้จะใช้งบประมาณการทำประชามติครั้งละ 3,250 ล้านบาท ตามที่ตัวแทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ข้อมูลไว้กับคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติก็ตาม

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” กล่าวว่า จากที่อ่านคำวินิจฉัยแล้ว มองว่าเรื่องการบรรจุระเบียบวาระนั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของประธานรัฐสภา จึงไม่เป็นเหตุของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ต้องถามไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วจะเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าควรหารือกับสำนักงานกฎหมายที่เป็นเจ้าของเรื่องที่เสนอว่าไม่บรรจุวาระ ว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ส่วนหากท้ายสุดไม่บรรจุวาระ และยืนยันความเห็นเดิม เพราะเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พรรคการเมือง และ สส. ไม่มีทางไป เนื่องจากเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมแล้วแต่รัฐสภาไม่บรรจุวาระให้ จึงไม่มีเรื่องพิจารณา ดังนั้น อาจถึงทางตัน จึงไม่มีทางเลี่ยง

คือต้องทำประชามติตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เสนอ คือออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง

“ด้วยความเคารพประธานรัฐสภา มุมมองผมคือ น่าจะหารือสำนักกฎหมายในฐานะเจ้าของเรื่อง เพื่อพิจารณาว่าจะเดินอย่างไรถึงจะเหมาะและไปได้ เป็นข้อแนะนำของผมเท่านั้น ไม่กล้าก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา”

ครั้งแรก ถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่มีร่างแก้ไขเสนอเข้าสู่สภา

ครั้งสอง แก้ไขมาตรา 256 จากนั้นนำไปทำประชามติ

และครั้งสาม เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 กำหนด “จุดตัดสินชี้ขาด” คะแนนเสียงประชามติ จะต้องชนะถึง 2 ครั้ง เป็นแบบ Double Majority

ชนะครั้งแรก ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามติ

ชนะครั้งสอง ผลประชามติต้องมีจำนวนเสียงที่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ

พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจึงร่วมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 เพื่อปลดล็อกสูตร Double Majority และต้องรอให้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ซึ่ง “ชูศักดิ์” คาดการณ์ว่า การแก้ไขดังกล่าวสามารถเร่งรัดได้ภายใน 6 เดือน

แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกชูว่าเป็น “นโยบายเร่งด่วน” ของรัฐบาลเพื่อไทย ทว่ายังต้องผ่านอีกหลายด่าน ใช้เงินอีกมหาศาล กว่าจะ “นับหนึ่ง” ลงมือลงแรงแก้รัฐธรรมนูญได้ตามที่หาเสียง รัฐบาลทำงานมาแล้ว 1 ปี เป็นอย่างน้อย