เปิดอาณาจักรธุรกิจ สยามพิวรรธน์ ยักษ์ค้าปลีกและอสังหาฯหรู

SIAMPIWAT

เปิดประวัติและอาณาจักรธุรกิจ รวมถึงรายได้-กำไรของ สยามพิวรรธน์ ยักษ์ค้าปลีกและอสังหาฯ ระดับหรู หลังกระแสข่าวเตรียมเข้าตลาดหุ้น

วันที่ 23 มีนาคม 2567 หลังสำนักข่าว bloomberg รายงานว่า สยามพิวรรธน์กำลังศึกษาลู่ทางเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เจ้าของและผู้บริหารโครงการค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์รายนี้เป็นประเด็นร้อนแรงและถูกพูดถึงโดยนักลงทุนและคนทั่วไป

ประชาชาติธุรกิจจึงได้รวบรวมข้อมูล ทั้งธุรกิจต่างๆในเครือของสยามพิวรรธน์ รวมถึงตัวเลขรายได้และผลกำไรเอาไว้ในที่เดียว

สยามพิวรรธน์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2502 พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ขณะนั้นมียศพลตรี) ในชื่อ บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส์ จำกัด ตามด้วยการเปิดโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอลในปี พ.ศ. 2509 เป็นโรงแรมห้าดาวระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แรกของบริษัท

จากนั้นบริษัทเปิดโครงการอสังหาฯต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ 

ปีพ.ศ. 2545 บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส์ตัดสินใจปิดกิจการโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตอลหลังดำเนินกิจการมาได้ 35 ปี และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเพื่อเริ่มโครงการก่อสร้าง “ศูนย์การค้าสยามพารากอน” ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2546 จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด” ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้า อาทิ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์, พาราไดซ์ พาร์ค, เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ฯลฯ ถือครองหุ้นบริษัทสยามพิวรรธน์ ในสัดส่วน 48%

โดยสยามพิวรรธน์มีกลุ่มธุรกิจหลัก 7 ธุรกิจ คือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่, ธุรกิจศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการ, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจสร้างประสบการณ์ลูกค้าเชื่อมออฟไลน์-ออนไลน์ และหน่วยสนับสนุนธุรกิจ

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวม 7 โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า 4 แห่ง อาคารสำนักงาน 1 แห่ง มิกซ์ยูส 1 แห่ง และเอาท์เล็ต 1 แห่ง ได้แก่

สยามเซ็นเตอร์

เปิดตัวในปี พ.ศ. 2516 ในฐานะศูนย์การค้ามาตรฐานระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนจะปรับโฉมใหม่ทั้งหมดในปีพ.ศ. 2556 และเปิดทำการอีกครั้งในชื่อ “สยามเซ็นเตอร์ – เมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์” (สยามเซ็นเตอร์ – The Ideaopolis)

Siam center
Siam center

สยามดิสคัฟเวอรี่

เปิดตัวในปีพ.ศ. 2540 ในฐานะจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์ ด้วยแหล่งบันเทิง ร้านความงามและแฟชั่น ต่อมาปีพ.ศ. 2558 เริ่มรีโนเวทครั้งใหญ่และเปิดตัวอีกครั้งในปีพ.ศ. 2559 ด้วยโพซิชั่น “ดิ เอ็กซ์พลอราทอเรียม” ไฮบริดรีเทลสโตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ใช้สอย 40,000 ตารางเมตร และสินค้าด้านไลฟ์สไตล์มากถึง 10,000 แบรนด์

Siam Discovery
Siam Discovery

สยามพารากอน

เปิดตัวในปีพ.ศ. 2548 โดยเป็นศูนย์การที่ใช้เงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนโดยภาคเอกชนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยในเวลานั้น จากการรวบรวมร้านค้า แหล่งบันเทิงและท่องเที่ยว รวมถึงร้านอาหารระดับโลกไว้ในที่เดียว

Siam Paragon
Siam Paragon

ไอคอนสยาม

เป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยมูลค่าถึง 55,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 55 ไร่ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 750,000 ตารางเมตรประกอบด้วย ไอคอนสยาม (Main retails & Entertainment) พื้นที่ 500,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น ไอคอนลักซ์ (Luxury Wing) พื้นที่ 25,000 ตารางเมตร รวบรวมแบรนด์เนมชั้นนำที่จะเป็น Flagship Stores ส่วนที่เหลือเป็นคอนโดมิเนียมพักอาศัย 2 อาคาร คือ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนซ์ ณ ไอคอนสยาม และ เดอะ เรสซิเดนซ์ แอท แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

Icon Siam
Icon Siam

สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ

ลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต ภายใต้การดูแลของ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไซม่อน พร็อตเพอร์ตี้ กรุ๊ป และ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2561 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 การออกแบบโครงการเน้นพื้นที่กลางแจ้ง ธรรมชาติ และพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 50,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ในอนาคตมีแผนที่จะสร้างลักชัวรี่พรีเมี่ยมเอาท์เล็ตอีก 2 แห่งในประเทศไทย

สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ
สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ภาพจากสยามพิวรรธน์

ไอซีเอส

โครงการมิกซ์ยูสสูง 29 ชั้น ตั้งอยู่ริมถนนเจริญนคร พื้นที่ 5 ไร่ ฝั่งตรงข้ามไอคอนสยาม มูลค่าลงทุน 4,000 ล้านบาท และให้บริการในรูปแบบ “มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ทาวน์” ซึ่งพื้นที่ให้บริการ 70,000 ตารางเมตร ให้บริการทั้งพื้นที่รีเทล อาคารสำนักงานและโรงแรม

ICS
ICS

อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์

อาคารสำนักงานระดับเอ็กซ์คลูซีฟสูง 30 ชั้น ตั้งอยู่เหนือศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่

ธุรกิจห้างสรรพสินค้า

ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าพารากอนในสยามพารากอน และ ห้างสรรพสินค้าทาคาชิมายะในไอคอนสยาม

ห้างสรรพสินค้าพารากอน
ห้างสรรพสินค้าพารากอน

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ ที่มีประสบการณ์การสร้างรูปแบบการค้าปลีก และมุ่งนำเสนอสินค้าเฉพาะทางให้แก่ลูกค้าของสยามพิวรรธน์ อีกทั้งยังมุ่งเปิดโอกาสตลาดสินค้าเฉพาะทาง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและแตกต่างให้กับศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์

โดยมีทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ ดังนี้

ICONCRAFT ที่รวมผลงานจากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศตั้งอยู่บนชั้น 4 และชั้น 5 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม และบนชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

ICONCRAFT
ICONCRAFT ภาพจากสยามพิวรรธน์

THE SELECTED มัลติแบรนด์ไลฟ์สไตล์คอนเซปต์สโตร์ที่รวบรวมสินค้าด้านศิลปะ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ดนตรี และเทคโนโลยีตั้งอยู่บนชั้น 2 ไอคอนสยาม

The Wonder Room แฟชั่นมัลติแบรนด์สโตร์ที่มุ่งสนับสนุนให้มีการพัฒนาแบรนด์แฟชั่นใหม่ ๆ และสนับสนุนดีไซเนอร์ไทยที่กำลังมาแรง แต่ละซีซั่น The Wonder Room จะหยิบเทรนด์แฟชั่นโลกที่ถูกใจชาวไทยและเลือกดีไซเนอร์ไทย 20 คนให้มาแสดงผลงานแบรนด์ของตนเอง โดยมีธีมที่ต่างกันไปในแต่ละครั้ง ตั้งอยู่บนชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์

O.D.S.: Objects of Desire Store เป็นร้านของตกแต่งบ้านมัลติแบรนด์ที่รวบรวมสินค้าตกแต่งบ้านที่ชนะรางวัลต่างๆ โดยเป็นความร่วมมือกับกรมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ มีผลิตภัณฑ์และงานออกแบบที่โดดเด่นของ ดีไซเนอร์ไทยที่ชนะรางวัลมาแล้วรวมกว่า 130 แบรนด์ รวมถึงมีโซนคาเฟ่แนวคิดใหม่ ได้แก่ “I+D Style Cafe x Brave Roaster” ในโครงการนวัตกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์จาก DITP ที่เน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ นำเสนอเมนูเครื่องดื่มต่างๆ จากวัตถุดิบคุณภาพโดยฝีมือบาริสตร้ามืออาชีพ บริหารงานโดยบริษัท สยาม ซีเล็คเต็ค จำกัด และตั้งอยู่ที่ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

Ecotopia พื้นที่สร้างสรรค์จากกลุ่มคนรักษ์โลก ด้วยความร่วมมือกับ 12 Eco Co-Creators และคนรุ่นใหม่ นำเสนอสร้างประสบการณ์ใหม่ของคำว่า “อีโค่” ที่เข้าถึงง่าย และเป็นเรื่องใกล้ตัว บริหารโดย บริษัท ดิสคัฟเวอรี่ รีเทล จำกัด ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ รวบรวมผลิตภัณฑ์รักษ์โลกกว่า 300 แบรนด์

Ecotopia
Ecotopia ภาพจากสยามพิวรรธน์

Absolute Siam Store ศูนย์รวมสินค้าแฟชั่น และไลฟ์สไตล์ รวมถึงของที่ระลึกต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ด้วยดีไซน์แปลกใหม่จากการร่วมมือระหว่างดีไซน์เนอร์ชื่อดังของไทย รวมถึงสินค้าเฉพาะ (Exclusive products) ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน มากกว่า 60 แบรนด์ บริหารโดย บริษัท สยาม ซีเล็คเต็ค จำกัด ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์

ส่วนแบรนด์ต่างประเทศ ได้แก่

Loft ร้าน Specialty Store สัญชาติญี่ปุ่น เปิดตัวในไทยเมื่อ ปีพ.ศ. 2540 ในฐานะร้าน Loft แห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เปิดนอกญี่ปุ่นบริหารงานโดยบริษัท สยาม สเปเชียลลิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสยามพิวรรธน์ ปัจจุบันมี 2 สาขา คือที่สยามดิสคัฟเวอรี่ และ ไอคอนสยาม

ȦLAND Lifestyle Store & Culture Space ชื่อดังจากประเทศเกาหลี โดยเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่รวบรวมทั้งแฟชั่นไอเท็มและไลฟ์สไตล์เกาหลี บริหารโดยบริษัท ไพร์ม รีเทล จำกัด ปัจจุบันมี 2 สาขาที่ สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม

JUNG SAEM MOOL (จองแซมมุล) แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังจากเกาหลี ที่ก่อตั้งโดยจอง แซม มุล เมคอัพอาร์ทิสต์ระดับไอคอนของเกาหลี ในประเทศไทยบริหารโดย บริษัท ไพร์ม รีเทล จำกัด โดยมีเคาน์เตอร์ที่สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท สยาม กูร์เม่ต์ โฮลดิ้ง จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทย่อยเพื่อดูแลการคัดสรร ลงทุน สร้าง และดำเนินการค้าปลีกอาหารและคอนเซ็ปต์อาหารและเครื่องดื่มให้แก่สยามพิวรรธน์ มุ่งเน้นคอนเซ็ปต์ด้านอาหารที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นสอดรับกับสินค้าและบริการอื่น ๆ ของศูนย์การค้าให้แก่ลูกค้า

พร้อมมองหาแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงระดับโลกในระดับราคาต่าง ๆ กัน เพื่อเป็นทางเลือกที่แตกต่างและดีกว่าที่มีอยู่ในตลาดในปัจจุบันให้แก่ลูกค้า

รวมถึงยังมีร้านอาหารบลู บาย อลัง ดูคาส (Blue by Alain Ducasse) เป็นร้านอาหารฝรั่งเศสแบบร่วมสมัย ภายใต้การร่วมมือกับเชฟผู้มีชื่อเสียงระดับตำนานในวงการอาหารโลกอย่าง Alain Ducasse บริหารโดย บริษัท สยาม ริเวีย จำกัด ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ไอคอนสยาม

ธุรกิจการสื่อสารการตลาด

ดำเนินการโดยบริษัท ซูพรีโม ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริหารจัดการด้านการตลาดอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารการตลาด ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง ส่งเสริมการขายและ งานอีเว้นท์ระดับโลก ให้แก่ผู้เช่าและโครงการอสังหาริมทรัพย์ของเครือ

รวมถึงจัดทำระบบโครงสร้างไอทีในองค์กร (IT Infrastructure) บริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Management) รวมถึงมีทีมที่ดูแลกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง พัฒนากลยุทธ์ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM พัฒนา Loyalty Program รวมถึงกิจกรรมต่างๆ

ธุรกิจบริหารศูนย์จัดประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการ

บริหารจัดการพื้นที่รวม 12,000 ตร.ม. ใน 2 จุดคือ ทรูไอคอนสยามฮอลล์ และพารากอน ฮอลล์

ธุรกิจการสร้างประสบการณ์ลูกค้าเชื่อมออฟไลน์และออนไลน์

ดำเนินการโดยบริษัท เวล็อซซิตี้ จำกัด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล คิดปัญหา และนำเสนอวิธีแก้ไขแบบใหม่ รวมถึงวางกลยุทธ์สำหรับช่องทาง Omni Channel ของสยามพิวรรธน์ให้ตอบสนองกับประสบการณ์ของลูกค้า และเป็นผู้พัฒนา-ดูแล ONESIAM SUPERAPP

ONESIAM SUPERAPP
ONESIAM SUPERAPP

ธุรกิจบริหารจัดการอาคาร

ดำเนินการโดยบริษัท สยามโปรเฟสชั่นแนล แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่เป็นบริษัทย่อยของสยามพิวรรธน์มุ่งเพิ่มผลิตภาวะของอสังหาริมทรัพย์ ปรับค่าดำเนินงานให้เหมาะสมที่สุด ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย และบริหารจัดการให้ผู้เช่าพึงพอใจ รวมถึงมีบริการพัฒนาบุคลากรสำหรับลูกค้าที่กำลังปรับโครงสร้างหรือสรรหาพนักงานอีกด้วย

ด้านผลประกอบการนั้น ตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในปี 2561-2565 มีรายได้รวมและกำไรสุทธิดังนี้

ปี 2565

  • รายได้รวม 4,113,572,231 บาท เพิ่มขึ้น 58.78%
  • กำไรสุทธิ 1,330,098,338 บาท เพิ่มขึ้น 397.06%

ปี 2564

  • รายได้รวม 2,590,608,512 บาท ลดลง 13.86%
  • กำไรสุทธิ 267,591,929 บาท ลดลง 57.77%

ปึ 2563

  • รายได้รวม 3,007,462,378 บาท ลดลง 21.36%
  • กำไรสุทธิ 633,774,434 บาท ลดลง 46.97%

ปี 2562

  • รายได้รวม 3,824,405,867 บาท เพิ่มขึ้น 4.69%
  • กำไรสุทธิ 1,195,260,515 บาท เพิ่มขึ้น 14.93%

ปี 2561

  • รายได้รวม 3,652,873,452 บาท เพิ่มขึ้น 11.15%
  • กำไรสุทธิ 1,039,976,417 บาท เพิ่มขึ้น 6.82%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง