TRUE ปักหมุดปี’68 สร้างทาเลนต์ด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คน

“ทรู” โชว์เคสผลงาน AI เปิดตัว “Mari” (มะลิ) ผู้ช่วยออนไลน์เวอร์ชั่นใหม่ พร้อมใช้ พ.ค. 2567 ตั้งเป้ารายได้บริการดิจิทัลจาก AI ขยับเป็น 30% ใน 3 ปี ปักหมุดปี 2568 สร้างทาเลนต์ด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คน

วันที่ 23 เมษายน 2567 นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในงานสัมมนา AI Gets Real ว่า AI ช่วยให้ทรู ดิจิทัล สามารถทรานส์ฟอร์มประสบการณ์ลูกค้าได้ในทุกบริการ ตอกย้ำความตั้งใจที่จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนลดช่องว่างและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

ซึ่งหลักการออกแบบ AI คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากหลากหลายแหล่งบนพื้นฐานของจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

เทคโนโลยี AI สามารถนำมาสร้างระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง โดยมีการนำไปใช้จริงแล้วในหลากหลายกรณีศึกษา สะท้อนชัดถึงศักยภาพของทรู ดิจิทัลในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็น Data-AI Integrator ที่บูรณาการเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ยุค AI First ได้อย่างเต็มรูปแบบ

“ทรูตั้งเป้าเปลี่ยนการทำงานประจำให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ 100% ภายในปี 2570 และมุ่งมั่นที่จะเติมเต็มศักยภาพภาคธุรกิจไทย ด้วยโซลูชั่นอัจฉริยะของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรต่าง ๆ ให้สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า รายได้จากบริการดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของบริการดิจิทัล”

เอกราช ปัญจวีณิน

บริการในรูปแบบ Virtual

นายปิยะพันธุ์ นาคะโยธิน หัวหน้าสายงานด้านบริการลูกค้า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า AI เป็นจุดเปลี่ยนในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ซึ่งทรูได้พัฒนานวัตกรรมผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะอย่าง “Mari” (มะลิ) ที่สามารถให้บริการทั้งในระบบแชต และบริการแบบเสียงโดยใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ จดสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ True Voice 

“ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่าจากผู้ช่วยบริการลูกค้าอัจฉริยะ ‘Mari’ ที่มีทั้งน้ำเสียงและคุณภาพในการให้บริการเสมือนบริการจากทีมงานบริการลูกค้า โดยทรูได้เริ่มให้บริการลูกค้าบางกลุ่มผ่านระบบเสียงของ Mari และจะขยายบริการสู่กลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ควบคู่กับศักยภาพและความสามารถของ Mari ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการได้เรียนรู้และสื่อสารกับผู้ใช้บริการทรู

ยิ่งไปกว่านั้น Mari ยังมีความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์ และสามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น เปรียบเทียบแพ็กเกจบริการที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า โดย Mari เวอร์ชั่นใหม่ที่ได้รับการอัพเกรดความสามารถในการสนทนาผ่านเสียง จะเริ่มให้บริการในเดือน พ.ค. 2567”

ด้าน นายบัณฑิต แพงป้อง หัวหน้าสายงานด้านไอทีและความปลอดภัย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า AI ช่วยลดเวลาการทำงานจากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเป็นวัน ๆ หรือหลายสัปดาห์ ให้เหลือเพียงภายในไม่กี่ชั่วโมง อีกทั้งการพัฒนาโมเดล AI ขึ้นเองภายในบริษัท ยังทำให้มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตลอดจนช่วยให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดสร้างสรรค์และส่งมอบโซลูชั่นใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า

นอกจากนี้ AI ยังทำหน้าที่ได้เสมือนเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเสริมกำลังและเติมเต็มทีมงานที่ให้บริการลูกค้า ขณะที่ลูกค้า จะได้รับบริการผ่านระบบแชตของ Mari ที่สามารถช่วยเปรียบเทียบดีไวซ์ หรือแม้กระทั่งช่วยแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคให้แก่ลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์

ปิยะพันธุ์ นาคะโยธิน-บัณฑิต แพงป้อง

จาก AI-Ready สู่ AI-First

นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า องค์กรจำนวนมากในไทย มีศักยภาพพร้อมประยุกต์ใช้ AI หรือ “AI Ready” หมายความว่าองค์กรเหล่านี้มีข้อมูลที่ถือครองเป็นของบริษัทและมีการริเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ แต่การจะเป็น ‘AI-First’ และสามารถนำ AI มาขับเคลื่อนองค์กร ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมบริการต่าง ๆ ได้นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร จากเดิมที่ใช้ประสบการณ์เป็นพื้นฐานหรือมีผู้นำในการตัดสินใจ ไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ 

ดังเช่นการทำงานของทีมงานที่พัฒนานวัตกรรม Mari ผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะ ซึ่งเป็นทีมงานที่มาจากแผนกต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างคล่องตัว ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านไอที การวิเคราะห์ข้อมูล การยกระดับประสบการณ์และงานบริการลูกค้า หรือแม้แต่หน่วยงานโรโบติกส์ที่พัฒนาหุ่นยนต์ Mari รุ่นใหม่ในรูปแบบ Humanoid

“การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งองค์กรที่จะเป็น AI First จำเป็นต้องมีผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) ที่เข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลพอที่จะดึงเทคโนโลยี AI มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คนภายในปี 2568”

ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์