มาเลเซียออกวีซ่า Golden Pass ดึงเม็ดเงิน VC-สตาร์ตอัพเข้าประเทศ

Anwar Ibrahim
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย - Tobias SCHWARZ / AFP

“มาเลเซีย“ ออกแพ็กเกจวีซ่า ”Golden Pass“ จูงใจสตาร์ตอัพ-VC ดึงทาเลนต์-เงินลงทุนเข้าประเทศ ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอาเซียน

วันที่ 23 เมษายน 2567 สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ประเทศมาเลเซียเปิดตัวแพ็กเกจ “Golden Pass” หรือวีซ่าการทำงานสำหรับบริษัทสตาร์ตอัพและบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ และสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายราฟาซี รามิล (Rafazi Ramil) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย กล่าวในงาน KL20 Summit ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ว่าการออกโปรแกรม Unicorn Golden Visa จะช่วยดึงดูดสตาร์ตอัพยูนิคอร์น นักลงทุน และทาเลนต์มากความสามารถมาที่ประเทศมาเลเซีย และทำให้มาเลเซียเป็นฐานที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานระบุว่า โปรแกรม Unicorn Golden Pass จะมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการจ้างงานในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง เงินอุดหนุนค่าเช่า และอัตราภาษีสัมปทานจากกำไรของบริษัท ส่วนโปรแกรม VC Golden Pass จะมุ่งไปที่บริษัทร่วมลงทุน ซึ่งรวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทำงานสำหรับผู้บริหาร VC อาวุโส และการอนุมัติใบอนุญาตแบบเร่งด่วนสำหรับการจัดตั้งกองทุนในประเทศ

โดย VC ที่มีสิทธิในโปรแกรมดังกล่าวจะต้องมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีประวัติการลงทุนในสตาร์ตอัพเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ

“เรากำลังเสนอสิ่งจูงใจหลายประการ รวมถึงโอกาสในการให้ทุนจดทะเบียนธุรกิจ (Limited Partner หรือ LP) การให้เงินอุดหนุนพื้นที่สำนักงาน การขอใบอนุญาตอย่างเร่งด่วน และการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับบัตรผ่านการจ้างงาน” นายราฟาซีกล่าว

ขณะเดียวกัน นายอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มจำนวนสตาร์ตอัพในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยการจัดงาน KL20 Summit ในครั้งนี้ ถือเป็นการกระตุ้นระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของประเทศอีกทางหนึ่ง

“เราตั้งใจให้มาเลเซียเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีการเงินอิสลาม ซึ่งการที่เราตัดสินใจเพิ่มข้อได้เปรียบในสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะช่วยสร้างการเติบโตในรายอุตสาหกรรมได้”

ทั้งนี้ รายงานระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น นายอันวาร์ประกาศจัดตั้งศูนย์กลางการออกแบบชิปแบบครบวงจรในรัฐสลังงอร์ใกล้กับเมืองหลวง รองรับการตั้งฐานของบริษัทต่าง ๆ ได้แก่ MaiStorage ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ Phison Electronics, ARM Holdings, SkyeChip บริษัทด้านการออกแบบชิปของมาเลเซีย และสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เสิ่นเจิ้น