ป.ตรีจบใหม่ 2.8 แสนคนเคว้ง ธุรกิจโคม่าปิดประตูจ้างงาน

อาชีพส่วนตัว
เครดิตภาพ : ศูนย์ COVID-19

โควิดระลอกใหม่ซ้ำ รมว.แรงงานสั่งมอนิเตอร์ธุรกิจกลุ่มเสี่ยงปิดกิจการ โฟกัสอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เอสเอ็มอี ผลิตส่งออก ชี้ ป.ตรี จบใหม่ 2.8 แสนคนเคว้ง จับตาปลายปีนี้กลุ่มที่รัฐ-เอกชนจ้างชั่วคราวหมดสัญญาทะลักออกสู่ตลาดแรงงานอีกบาน โรงแรม-ธุรกิจท่องเที่ยวยังโคม่า คาดตกงานอีกเป็นล้าน วอนรัฐจ้างพนักงานเดิม copayment 50% สนง.สถิติแห่งชาติระบุ กลุ่มเสมือนว่างงานรายได้ไม่พอยังชีพ 2.19 ล้านคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงแรงงานกำลังจับตาดูสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่ลุกลามไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ และส่งผลกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก (เอสเอ็มอี) ในภาคการผลิตและส่งออกที่มีความสุ่มเสี่ยงต้องปิดกิจการ โดยจะพยายามประคับประคองทั้งฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง ไม่ให้เศรษฐกิจที่มีปัญหาอยู่แล้วถูกซ้ำเติมอีก ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเลิกจ้าง จากปัจจุบันมีผู้ว่างงาน รวมทั้งนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำอีกจำนวนมาก และหากกิจการเหล่านี้ประสบปัญหาจะทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไม่รวมยอดผู้ว่างงานสะสมที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว

สารพัดโครงงานหนุนจ้างงาน

จากการประเมินผลพบว่าโครงการไทยมีงานทำพบว่ามีผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานจากการสมัครงานภายใต้โครงการนี้ 5 แสนคน หรือ 50% ของอัตราตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัครในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2563 ส่วนโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษา โดยภาครัฐและเอกชน (copayment) ระยะเวลาจ้าง 1 ปี มีตัวเลขการเข้าทำงานน้อยเฉพาะเดือน ต.ค. 2563 ที่เริ่มโครงการมีนักศึกษาจบใหม่ยื่นสมัครงาน 34,000 คน ได้รับบรรจุเข้าทำงาน 3,000 คน ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ในปีที่ผ่านมาอีกกว่า 2 แสนคนสมัครงานในระบบปกติตามองค์กรต่าง ๆ เนื่องจากเป็นการจ้างงานระยะยาว ในจำนวนนี้บรรจุเข้าทำงานแล้ว 1.8 แสนราย

โฟกัสภาคการผลิตส่งออก

“ขณะนี้บางองค์กรยังแข็งแรง สามารถจ้างงานตามปกติ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ แต่รัฐพยายามจัดทำมาตรการดูแลคนตกงานให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ที่ถูกกระทบไม่ให้ปิดโรงงาน สำหรับกรณีรัฐสั่งปิด ก็ต้องเยียวยาด้วยการใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมดูแลนายจ้าง ลูกจ้างอย่างเต็มที่ เช่น การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือเพียง 3%”

นายสุชาติกล่าวว่า ที่กระทรวงแรงงานโฟกัสเป็นพิเศษขณะนี้คือ ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ จะทำทุกแนวทางเพื่อประคับประคองให้โรงงานเหล่านี้เดินเครื่องการผลิตต่อไปได้

เด็กจบใหม่ปี’63 แตะ 2.8 แสนคน

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะประธานในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประเมินล่าสุดนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ในปีการศึกษา 2562-2563 รวมทุกระดับการศึกษาอยู่ที่ 282,000 คน สำหรับระดับ ป.ตรี สาขาที่มีผู้จบการศึกษามากที่สุดคือ ธุรกิจบริหารและกฎหมาย 87,000 คน วิศวกรรมศาสตร์และการก่อสร้าง 37,000 คน, สาขาด้านสุขภาพ 23,000 คน, เทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) 14,000 คน, วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 14,000 คน สาขาที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา ครุศาสตร์ 31,000 คน รวมถึงสาขาศิลปกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ 32,000 คน นิเทศศาสตร์/สังคมศาสตร์อีก 20,000 คน ซึ่ง 2 สาขาวิชานี้หางานทำค่อนข้างยาก

จบใหม่สะสม 2 ปี 5.4 แสนคน

ขณะที่กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ประมาณการว่า ปี 2563-2564 จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานราว 259,878 ราย ปี 2564-2565 จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน 283,432 ราย รวม 2 ปี กว่า 5.4 แสนคน และได้สำรวจนักศึกษาจบใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในปี 2562-2563 (first S-curve) ในระดับ ปวช./ปวส./ป.ตรี พบว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอยู่ที่ 21,478 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 32,194 คน, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 31,491 คน, ท่องเที่ยวในกลุ่มรายได้ดี 41,580 คน และยานยนต์สมัยใหม่ 76,285 คน ไม่รวมในส่วนของอุตสาหกรรมกลุ่ม new S-curve ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การบินและโลจิสติกส์, ดิจิทัล, หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจรที่คาดว่าจะมีผู้จบการศึกษาอีก 112,000 คน

มหา’ลัยตำบลจ้างงานสู่ท้องถิ่น

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่านอกเหนือจากโครงการ อว.จ้างงานที่ดำเนินการไปแล้ว เพื่อช่วยรับนักศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดงาน วันที่ 31 ม.ค.นี้ จะเปิดตัวโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” เป็นการจ้างงานระยะยาว รองรับนักศึกษาจบใหม่ในระยะแรกก่อนที่ 60,000 รายทั่วประเทศ ด้วยอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท เพื่อสร้างงาน, สร้างรายได้ และสร้างกำลังคนในแต่ละจังหวัดเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง

ท่องเที่ยวตกงานหลักล้าน

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างไปแล้วกว่า 50% ของทั้งอุตสาหกรรม หรือ 2-3 ล้านคน เนื่องจากธุรกิจยังปิดกิจการชั่วคราวจำนวนมาก และคาดว่าจะถูกเลิกจ้างอีกจำนวนหนึ่งแน่นอนหลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่นี้

“การแพร่ระบาดรอบใหม่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมประเมินสถานการณ์ คาดว่าธุรกิจจะถอยไปอยู่ในภาวะยากลำบากอีกครั้ง จึงเสนอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าจ้างแรงงานพนักงานเดิมในรูปแบบ copayment ในสัดส่วน 50% รักษาการจ้างงานเดิมไว้”

สอดรับกับที่ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ระบุว่า คำนวณจากโรงแรมที่ถูกกฎหมายราว 1.6 หมื่นแห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่ไม่จดทะเบียน) 800,000-900,000 คน จากการเก็บข้อมูลโรงแรม 4-5 ดาว พบว่าในจำนวนนี้ถูกเลิกจ้างจากโควิดรอบแรกแล้วกว่า 300,000 แสนคน คาดว่าหากภาครัฐไม่เข้ามาช่วยพยุงการจ้างงานแบบ copayment ในสัดส่วน 50% โควิดระลอกใหม่จะทำให้แรงงานภาคธุรกิจโรงแรมถูกเลิกจ้างอีกไม่ต่ำกว่า 400,000 คน

โควิดระลอกใหม่ดันว่างงานพุ่ง

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า โควิด-19 ระบาดรอบใหม่อาจส่งผลให้ปัญหาการว่างงานกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังตัวเลขผู้ว่างงานย่อตัวลง ก่อนหน้านี้ตัวเลข ณ เดือน พ.ย. 2563 การว่างงานอยู่ที่ 2% จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานของกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 3.95 แสนคน เพิ่มขึ้นจากก่อนช่วงโควิด-19 ที่อยู่ราว 1.6-1.7 แสนคน

สิ้นปี’64 ตกงานเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ” ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดทำเพื่อช่วยดูดซับแรงงาน ณ วันที่ 12 ม.ค. 2564 มีอัตรางานที่เปิดรับ 617,168 ตำแหน่ง ขณะที่มีจำนวนการสมัครงาน 133,486 ครั้ง โดยเป็นการจ้างงานทั้งในส่วนภาครัฐและบริษัทเอกชน

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจกล่าวว่า ปีนี้นอกจากจะมีกลุ่มบัณฑิตจบใหม่เข้ามาสมทบอีก 2-3 แสนคน ขณะที่กลุ่มว่างงานเดิมตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือน พ.ย.อยู่ที่่ 2% แล้ว ยังมีกลุ่ม “ผู้เสมือนว่างงาน” ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันแม้ไม่ตกงาน แต่รายได้ต่ำตามชั่วโมงการทำงานที่น้อย อาจไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน ซึ่งจำนวนสูงถึง 2.19 ล้านคน และสถานการณ์ระบาดระลอกสองอาจทำให้กลุ่มผู้เสมือนว่างงานเพิ่มมากขึ้น


ขณะเดียวกันยังเสี่ยงว่าช่วงปลายปี 2564 จะมีกลุ่มผู้ว่างงานมากขึ้น เนื่องจากการจ้างงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้มีการจ้างงานตามโครงการไทยมีงานทำ ส่วนใหญ่จ้างงานชั่วคราว 1 ปีเท่านั้น หมายความว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีอีกจำนวนมากที่กลายเป็นผู้ว่างงาน