ดอลลาร์ยังคงแข็งค่า ตลาดจับตา GDP และ PCE

ดอลลาร์

ดอลลาร์ยังคงแข็งค่า ตลาดจับตาการเปิดเผยตัวเลข GDP และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคค (PCE)

วันที่ 23 เมษายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 37.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/4) ที่ระดับ 36.99/00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก โดยดัชนีดอลลาร์เปิดตลาดปรับตัวในกรอบจำกัดที่ระดับ 106.10 หลังนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน

ขณะที่การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงนานกว่าที่คาด ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่า ทั้งนี้เฟดได้เข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. โดยข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักถึง 98.1% ที่เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2567 ของสหรัฐในวันพฤหัสบดี (25/4) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ (26/4) โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ

เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) นอกจากนี้เมื่อคืนที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกได้เปิดเผยดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.15 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 0.09 ในเดือน ก.พ. โดยได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานและอุปสงค์ในตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น

ในส่วนปัจจัยในประเทศวันนี้มีการหารือเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเลตในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็นของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยเห็นชอบหลักการโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางการเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงิน

และการดำเนินโครงการนั้นกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรร์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณจะศึกษาในรายละเอียดต่อไป และในส่วนข้อห่วงใย เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส.นั้น ที่ประชุม ครม.เห็นว่าหากมีประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม ให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.94-37.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 1.0659/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/4) ที่ระดับ 1.0648/52 โดยในระหว่างวันมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการขั้นต้นในเดือน เม.ย. ของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และยูโรโซน โดยตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของประเทศฝรั่งเศสอยู่ที่ระดับ 44.9 จากระดับ 46.2 ในเดือน มี.ค.

ในส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของประเทศฝรั่งเศสอยู่ที่ระดับ 50.5 จากระดับ 48.3 ในเดือน มี.ค.ในด้านประเทศเยอรมนีตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 42.2 จากระดับ 41.9 ในเดือน มี.ค. ส่วนตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 53.3 สูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 50.1 ในเดือน มี.ค. ในด้านยูโรโซนตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 45.6 จากระดับ 46.1 ในเดือน มี.ค.

ส่วนตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 52.9 จากระดับ 51.5 ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0637-1.0695 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 10660/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 154.67/70 เยน/ดอลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/4) ที่ระดับ 154.73/76 โดยเช้าวันนี้ (23/4) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.9 ในเดือน เม.ย. จากระดับ 48.2 ในเดือน มี.ค. ถึงแม้ว่าดัชนีดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แต่ได้มีการปรับตัวดีขึ้นจนเข้าใกล้เกณฑ์ขยายตัว

ส่วนในด้านตัวเลขดัชนีตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 54.6 ในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.จากระดับ 54.1 ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.65-154.86 เยน/ดอลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนเมษายนจากเอสแอนด์พี โกลบอลของสหรัฐ (23/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนเมษายนจากเอสแอนด์พี โกลบอลของสหรัฐ (23/4), ยอดขายบ้านใหม่เดือนมีนาคมของสหรัฐ (23/4), ดัชนีการผลิตเดือนเมษายนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ (23/4), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมีนาคมของสหรัฐ (24/4),

สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (BIA) (24/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (25/4), ประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 ของสหรัฐ (25/4), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่ร ปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนมีนาคมของสหรัฐ (25/4), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมีนาคมของสหรัฐ (26/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.4/9.1 สตางค์/ดอลลาร์หรัฐ และอัตราป้องกันควมเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 5.1/-4.2 สตางค์/ดอลลาร์หรัฐ