SCC แจงปม “เอสซีจี พลาสติกส์” ถูกรัฐบาลสหรัฐปรับ 20 ล้านดอลล์

SCC ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯกรณีเหตุการณ์รัฐบาลสหรัฐสั่งปรับ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “เอสซีจี พลาสติกส์” ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน ยันไม่กระทบธุรกิจเหตุมีการตั้งสำรองในงบการเงินสิ้นปี 2566 เรียบร้อยแล้ว

วันที่ 22 เมษายน 2567 นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปรับบริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด ฐานละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านจากการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐชำระค่าสินค้าที่ผลิตในอิหร่าน ช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2561 โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ขอเรียนให้ทราบดังนี้

1.บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด (หรือ “SCG Plastics”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC (ปัจจุบันอยู่ระหว่างชำระบัญชี) เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ขายเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ที่ผลิตจากบริษัทที่เอสซีจีร่วมทุนในอิหร่าน ซึ่ง SCG Plastics ได้ขาย PE ที่ผลิตจากบริษัทร่วมทุนนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยได้ใช้หลายสกุลเงินในการค้าขายตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจตามปกติของอุตสาหกรรมนี้ และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน

2.ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 SCG Plastics ได้หยุดการขาย PE ที่ผลิตในอิหร่านหลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่าน และกลับมาขายอีกครั้งเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศผ่อนผันการคว่ำบาตรดังกล่าวในปี พ.ศ. 2557 จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 SCG Plastics ได้ยุติการขาย PE จากบริษัทร่วมทุนอย่างถาวร หลังจากที่บริษัทในเอสซีจีหยุดดำเนินการกับบริษัทร่วมทุนนั้น และสินทรัพย์ดังกล่าวได้ถูกจำหน่ายไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา

3.ต่อมาสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (หรือ “OFAC”) เข้าตรวจสอบการขาย PE ของ SCG Plastics ที่ค้าขายช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่ ซึ่ง SCG Plastics ได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการของสหรัฐเป็นอย่างดี เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบ OFAC เห็นว่ามีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

แม้การขายสินค้าดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลสัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการคว่ำบาตร แต่มีการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการขายสินค้าที่ผลิตจากอิหร่านในช่วงดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลสหรัฐมีส่วนร่วมในการชาระเงินด้วย ส่วนการค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นไม่ได้ละเมิดมาตรการดังกล่าว

4.OFAC เห็นว่า SCG Plastics ได้ให้ความร่วมมือกับ OFAC ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ รวมถึงได้ออกนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต OFAC จึงได้เสนอให้ SCG Plastics ทำ Settlement Agreement โดยให้ SCG Plastics จ่ายเงินค่าประนอมยอมความให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ OFAC ยุติการพิจารณาข้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ การจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2567 ของเอสซีจี เนื่องจากได้ตั้งสำรองในงบการเงินสิ้นปี พ.ศ. 2566 เรียบร้อยแล้ว