คลังเผย 3 สาระสำคัญ ผลประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและ IMF 

การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee Meeting) ในการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings)
การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee Meeting) ในการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings) วันที่ 19 เมษายน 2024 (ภาพโดย Ken Cedeno/ REUTERS)

กระทรวงการคลังเผย 3 สาระสำคัญ การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 18-19 เม.ย. 2567 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

วันที่ 21 เมษายน 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในระหว่างวันที่ 18-19 เมษายน 2567 นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ว่าการสำรองชั่วคราวของไทยในธนาคารโลก ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings) ประจำปี 2567 โดยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก (Development Committee Meeting) ครั้งที่ 109 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (การประชุม) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 

ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายอาเจย์ บังกา (Ajay Banga) ประธานธนาคารโลก นางคริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และผู้ว่าการธนาคารโลกของ 25 กลุ่มออกเสียงที่เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิก 189 ประเทศ และมีหัวข้อการประชุมคือ “From Vision to Impact : Implementing the World Bank Group Evolution” ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 109 สรุปได้ดังนี้ 

1) ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าของการวิวัฒน์ธนาคารโลก (Evolution of the World Bank Group) ที่ได้ริเริ่มเมื่อปี 2566 โดยการวิวัฒน์ธนาคารโลกมีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) การปฏิรูปโครงสร้างการดำเนินงานของธนาคารโลก (2) การเพิ่มขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก (3) การรักษาระดับความมั่นคงทางการเงิน (4) การส่งเสริมการระดมทุนจากภาคเอกชน และ (5) การพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน 

2) ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าของการวิวัฒน์ธนาคารโลก จากประธานธนาคารโลกว่า ธนาคารโลกได้ดำเนินการเพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธนาคารโลกอย่างเข้มแข็งผ่าน Environmental and Social Framework (ESF) และมีเครื่องมือเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อวิกฤต หรือ Global Challenge Programs (GCP) นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการการลงทุนภาคเอกชน หรือ Private Sector Investment Lab (PSIL) เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง ความไม่เท่าเทียม และรับมือกับความท้าทายระดับโลก  

3) ที่ประชุมได้สนับสนุนการปรับรูปแบบการบริหารองค์กรของธนาคารโลก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตและความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ และเรียกร้องให้ธนาคารโลกปรับปรุงกระบวนการอนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของประเทศสมาชิกให้รวดเร็ว เรียบง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการบูรณาการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการระดมทุนจากภาคเอกชน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างธนาคารโลกและประเทศสมาชิกเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการกระเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สงคราม และความขัดแย้งทางการเมือง

อนึ่ง ในห้วงการประชุม Spring Meetings ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับผู้แทนจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Moody’s และ S&P ในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศไทยและนโยบายการคลังในระยะปานกลาง และได้มีการหารือทวิภาคีกับผู้แทนจาก Fiscal Affairs Department ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในประเด็นการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity Development) แก่ประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลังและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานภาครัฐ 

และได้เข้าร่วมการประชุมรายงานเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีรายงานว่าแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567-2568 จะยังเติบโตค่อนข้างต่ำ แต่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะยังคงสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจโลกกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในประเด็นความร่วมมือเพื่อการเตรียมการ 

ในการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2569 ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไป การประชุมเป็นเวทีที่มีความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการคลังและด้านวิชาการระหว่างธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเทศไทย และประเทศสมาชิกของธนาคารโลก 189 ประเทศ และเป็นโอกาสอันดีในการหารือกับผู้แทนจากประเทศสมาชิก สถาบันการเงิน และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และสามารถเป็นศูนย์กลางของความเติบโตอย่างยั่งยืนที่สำคัญต่อไปได้ในอนาคต