ช่องทางชำระเงิน มีผลต่อยอดขาย

Payment
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : finbiz by ttb

ในขณะที่ลูกค้าท่านหนึ่งกำลังช็อปปิ้งอยู่แล้วเจอของถูกใจ แต่ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อได้ในทันที เพราะช่องทางการชำระเงินที่ไม่หลากหลาย เป็นไปได้เลยว่าระหว่างทางที่ลูกค้ากำลังเดินไปกดเงินสด หรือโอนเงินที่ตู้ ATM ก็อาจจะไปพบสินค้าในร้านอื่น ๆ ที่ถูกใจกว่า หรือสิ่งที่น่าสนใจดึงดูดอื่น ๆ จนทำให้ลืมไปเลยว่าต้องการซื้อสินค้าในร้านของเรา… ทำให้เสียโอกาสทั้ง ๆ ที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อไปแล้วด้วยซ้ำ เพียงแค่ยังไม่เกิดการจ่ายเท่านั้น !

เรื่องอย่างนี้อาจเกิดขึ้นได้ หากกิจการหรือร้านค้าของผู้ประกอบการไม่มีช่องทางชำระเงินที่ลูกค้าต้องการ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือลูกค้าอาจจะลืมไปเลยว่าเคยต้องการสินค้าของเรา หรืออาจเป็นไปได้ว่าภาพจำของลูกค้าท่านนั้น คือร้านของเราไม่สามารถจ่ายเงินด้วยวิธีการที่ต้องการได้ และอาจไม่กลับมาอีกเลย…

ช่องทางการชำระเงินมีผลต่อ “ยอดขาย” มากกว่าที่คิด

จากผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดในปี 2022 ระบุว่าคนไทยใช้ระบบการชำระเงินดิจิทัลถึง 81% และยังมีผลสำรวจในปี 2023 ของ Baymard Institute ที่บอกว่า 75% ของผู้บริโภคเคยละทิ้งของในตะกร้าสินค้าในระบบออนไลน์ เพราะไม่พอใจกับช่องทางการชำระเงิน โดยมีสาเหตุหลักคือ

– มีตัวเลือกการชำระเงินน้อย

– ขั้นตอนการชำระเงินยุ่งยาก

– ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของช่องทางการชำระเงิน

– พบข้อผิดพลาดระหว่างการชำระเงิน

ดังนั้น ผู้ประกอบการอย่ามองข้ามเรื่อง “ช่องทางการชำระเงิน” โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากผลวิจัยข้างต้นแล้ว ยังมีพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยมีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้น และความพอใจที่จะซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ( BNPL : Buy Now Pay Later) ซึ่งเป็นเทรนด์ผู้บริโภคในขณะนี้ ร้านค้าจึงจำเป็นต้องมีตัวเลือกในการใช้จ่ายให้กับลูกค้า เพื่อรองรับทุกไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ธุรกิจดูทันสมัย น่าเชื่อถือ และดึงดูดลูกค้า ตอบรับการจับจ่ายแบบไร้รอยต่อ

ช่องทางการรับชำระเงินอะไรบ้างที่ธุรกิจควรมี

– เงินสด ถึงจะเป็นวิธีแบบดั้งเดิม และผู้บริโภคอาจใช้เงินสดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังควรรับเงินสด เพราะยังเป็นช่องทางหลักที่คนไทยใช้อยู่ โดยมีผลสำรวจจากธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงพฤติกรรมการชำระเงินคนไทยในปี 2023 ช่องทางเงินสดยังมีสัดส่วนธุรกรรมอยู่ที่ 54% ซึ่งยังคงเป็นสัดส่วนสูงสุด

– รับโอนผ่าน Mobile Banking / Internet Baking แอปพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือ

– QR code เป็นช่องทางการรับเงินที่สะดวก รวดเร็ว รองรับได้หลายแอปพลิเคชั่น

– บัตรเดบิต เป็นช่องทางที่สะดวกสำหรับชำระเงิน ผ่านเครื่อง EDC ลูกค้าไม่ต้องไปหาตู้ ATM เพื่อกดเงินออกมาก็สามารถชำระได้เลย

– บัตรเครดิต ตอบโจทย์การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง และลูกค้ายังสามารถเลือกผ่อนชำระเองได้ผ่านบัตรเครดิต หรืออาจเป็นการสะสมแต้มสำหรับลูกค้า ดังนั้น จึงจะเป็นอีกวิธีที่ลูกค้าต้องการชำระเงินด้วยวิธีนี้ เพราะมีผลประโยชน์หลายด้าน

– ลิงก์สำหรับรับชำระเงิน สำหรับรับชำระด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต สามารถสร้างลิงก์และส่งผ่านสื่อช่องทางออนไลน์ สร้างโอกาสสำหรับร้านค้าออนไลน์และทันท่วงทีที่ลูกค้าตัดสินใจ

ช่องทางเหล่านี้เป็นช่องทางที่ธุรกิจควรมี หรืออาจเพิ่มทางเลือกเช่น e-Wallet เพิ่มการทำโปรแกรมสมาชิกสะสมแต้ม แลกส่วนลดต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้เป็นลูกค้าประจำและกลับมาซื้อซ้ำกับร้านค้าของเราได้อีก สำหรับร้านค้าออนไลน์เพิ่มการเก็บเงินปลายทางก็ถือว่าตอบโจทย์
สำหรับลูกค้าที่ต้องการความมั่นใจในการได้รับสินค้า ด้วยช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการมียอดขายที่เพิ่มขึ้น สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจได้

ปัจจุบันธนาคารก็มีเครื่องมือที่จะมาช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้มีช่องทางการชำระเงินหลากหลายได้โดยไม่ต้องดำเนินการที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กิจการได้เปรียบ และสามารถแข่งขัน เติบโตอย่างยั่งยืนได้