รู้จัก R-star ดอกเบี้ยที่อาจเปลี่ยนโลกการลงทุนจากที่เรารู้จัก

R-star
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : คมศร ประกอบผล ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

ดอกเบี้ย R-star หรือที่เรียกกันว่า Neutral Rate หรือ Long-run Equilibrium Interest Rate กำลังเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในวงนักเศรษฐกิจและนักวิชาการ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดจังหวะเวลา ความเร็ว และปริมาณ ในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีที่นักลงทุนกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด

ก่อนอื่นมาว่ากันถึงนิยาม R-star หรือ Neutral Rate นั้นคือดอกเบี้ยในระดับ “ปกติ” ที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพ และเงินเฟ้อทรงตัวที่เป้าหมายของแบงก์ชาติ ดอกเบี้ย R-star ก็คือดอกเบี้ยระดับที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้ผ่อนคลายเกินไปจนทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินเป้า และไม่เข้มงวดเกินไปจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ

ดอกเบี้ย R-star จะถูกกำหนดด้วยปริมาณเงินออมและความต้องการในการลงทุน กล่าวคือดอกเบี้ยที่สูงจะจูงใจให้เกิดการออมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการกู้เงินเพื่อลงทุนจะลดลง และในทางกลับกันดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปจะลดอัตราการออม และเพิ่มความต้องการของเงินลงทุน ดังนั้น ดอกเบี้ย R-star เป็นดอกเบี้ยในระดับที่ทำให้ปริมาณเงินออมและความต้องการเงินลงทุนสมดุลกันนั่นเอง

มองย้อนกลับไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยทั่วโลก (ซึ่งเคลื่อนไหวตาม R-star) ปรับตัวลดลงมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย อาทิ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ทำให้หลายคนออมเงินเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งส่งผลให้อัตราการออมเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการในการลงทุนที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินของโลกที่ยังมีเหลืออยู่มาก ซึ่งสะท้อนผ่านภาวะเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลานานต่อเนื่อง

แต่ในโลกหลัง Covid นั้น เราพบว่าอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสะท้อนว่าปัจจัยกำหนดปริมาณเงินออมและความต้องการของเงินลงทุนของโลกกำลังเปลี่ยนไป กล่าวคือการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้ประชากรวัยเกษียณเริ่มดึงเงินออมออกมาใช้จ่าย ซึ่งทำให้อุปทานของเงินออมลดลง ในขณะที่ความต้องการลงทุนนั้นกลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งจากการลงทุนเพื่ออนาคต อย่างเช่น การลงทุนใน AI และพลังงานสะอาด

รวมถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตในประเทศในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ อย่างเช่น ชิปคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมจำเป็นอื่น ๆ ท่ามกลางกระแส Deglobalization, Reshoring, Near-shoring เป็นต้น ดังนั้น ปริมาณเงินออมที่ร่อยหรอลง ประกอบกับความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ดอกเบี้ยเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้น

Fed เริ่มยอมรับการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย R-star และส่งสัญญาณผ่านการปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาว (Longer Run Dot Plot) เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.6% ในการประชุมเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจุดชวนให้ Bond Yield ทั่วโลกกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง และกดดันตลาดหุ้นให้ปรับฐาน

เพราะฉะนั้น ในการประชุม Fed ครั้งถัด ๆ ไป นอกจากจะต้องติดตามการส่งสัญญาณของ Fed ว่าจะลดดอกเบี้ยเมื่อใด และมากน้อยขนาดไหนแล้ว นักลงทุนยังต้องจับตาคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed ด้วยว่าจะมีการปรับขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งถ้า Fed ปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เราอาจเห็นปรากฏการณ์ที่ Fed ลดดอกเบี้ย แต่ Bond Yield ระยะยาวไม่ลงตาม หรืออาจปรับขึ้นสวนทางกัน และตลาดหุ้นก็อาจผันผวน แม้จะมีข่าวดีจากการลดดอกเบี้ยก็เป็นได้