“เมียวดี” เขตปลอดสงคราม หอฯตากชงลดผลกระทบการค้า

Myawaddy
ภาพจาก : AP Photo/Warangkana Wanichachewa

หอการค้าตากชงรัฐบาลไทยเปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลเมียนมา ขอให้ “เมืองเมียวดีเป็นเขตปลอดสงคราม” หวังลดผลกระทบการส่งสินค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดน มูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี พร้อมเสนอให้ใช้จังหวะเดียวกันนี้ประกาศให้ อำเภอแม่สอด เป็น เขตประกอบการเสรี Free Trade Zone เหมือนเมืองเมียวดี หวังปลุกเศรษฐกิจแม่สอดให้กลับมา

สงครามกลางเมืองในเมียนมา กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังเมืองสำคัญในรัฐฉานใกล้ชายแดนจีนถูก กลุ่มภราดรภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า (MNDAA)-กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง (TNLA)-กองทัพอาระกัน(AA) เข้าโจมตีค่ายทหารของกองทัพเมียนมาและยึดเมืองไปได้ในช่วงปลายปี 2566

ล่าสุด กองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army : KNLA) ซึ่งเป็นหน่วยทหารของ KNU พร้อมด้วยกองกำลังปกป้องประชาชน (People’s Defense Force : PDF) ประสบความสำเร็จในการโจมตีค่ายทหารรอบ ๆ เมืองเมียวดี จนยึดเมืองได้ ส่งผลให้การค้าชายแดนผ่าน ด่านแม่สอด-เมียวดี หยุดชะงักลง พร้อมกับมีผู้อพยพชาวเมียนมาหนีภัยสงครามข้ามแดนเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

เขตปลอดสงคราม ปลอดภาษี

นายชนินทร์ ทรงเมฆ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลัง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อประชุมกับฝ่ายทหารและส่วนราชการ โดยจะหารือใน 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องความมั่นคง กับเรื่องมนุษยธรรม ในการช่วยเหลือชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาในไทย แต่ไม่มีการหารือเรื่องเศรษฐกิจ-การค้า

ดังนั้นทางหอการค้าจังหวัดตาก ซึ่งได้หารือกันถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการได้รับปัจจุบัน และเสนอเรื่องผ่าน จ.ตาก ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้าชายแดนและผ่านแดนใน อำเภอแม่สอด ที่มีมูลค่านับ 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยอยากเสนอให้ทางรัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลเมียนมา ขอให้ เมืองเมียวดี เป็น “เขตปลอดสงคราม” เพื่อไม่ให้กระทบกับการประกอบกิจการค้าและการนำเข้าและส่งออกสินค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดนที่จำเป็นของทั้ง 2 ประเทศ

Advertisment

“ตอนนี้เราได้รับร้องเรียนจากสมาชิกหอการค้าจังหวัดตากว่า ค่าขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว เพราะความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าเข้าไปในเมียนมามีมาก แม้จะมีการปิดสะพานมิตรไทยภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 และสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 ฝั่งเมียนมา แต่เดินทางไม่สะดวก ผู้ขนส่งสินค้าจึงได้หาทางเลี่ยงไปทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่สะดวกและเพิ่มต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นไปอีก ผมจึงอยากให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อให้ปัญหาคลี่คลาย” นายชนินทร์กล่าว

ด้านนายเฉลิมวัฒน์ ตรีรัตน์วัฒนา รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก ในฐานะรองประธานกรรมการอาวุโสเครือไทซันกรุ๊ป ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร แบรนด์ “คูโบต้า” อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมี 3 สาขาในประเทศเมียนมา ได้แก่ รัฐมอญ บะโก และเมียวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เครือไทซันกรุ๊ปได้ปิดกิจการคูโบต้า เฉพาะสาขาที่เมืองเมียวดี ซึ่งกำลังมีเหตุการณ์ปะทะกัน ส่วนอีก 2 สาขายังเปิดดำเนินการปกติ

ปัจจุบันความต้องการสินค้าพวกอะไหล่ทางการเกษตรในเมียนมายังมีสูงมาก แต่ติดปัญหาเฉพาะอะไหล่บางส่วนที่ต้องนำเข้าจากประเทศไทยผ่านทางฝั่งแม่สอดก็ได้รับผลกระทบเพราะ ค่าขนส่งแพงขึ้น 4-5 เท่าตัว ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงมากและมีความเสี่ยงในการขนส่งเพิ่มขึ้นสูงมาก

ยกตัวอย่าง สินค้าบางชนิดในภาวะปกติค่าขนส่งอยู่ประมาณ 20,000-40,000 บาท แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 100,000-200,000 บาทต่อเที่ยว ขณะเดียวกัน “ค่าเงินจ๊าต” ของเมียนมาก็อ่อนค่า 1 ดอลลาร์เท่ากับ 2,098.370 จ๊าต ส่งผลให้ราคาสินค้าที่ส่งเข้าไปขายสูงขึ้นจากค่าเงินที่อ่อนค่าด้วย

Advertisment

“เส้นทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 (AH1) ช่วงเมืองเมียวดี-กอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยงที่ถูกถล่มไป ทำให้การขนส่งต้องไปใช้เส้นทางย่อยเส้นทางอื่นแทน ซึ่งก็มีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว” นายเฉลิมวัฒน์กล่าว

เมื่อเทียบกับภาวะปกติการขนส่งสินค้าจะนำรถเทรลเลอร์วิ่งลากตู้คอนเทนเนอร์ไปทางถนน AH1 เมียวดี-กอกะเร็กในรัฐกะเหรี่ยง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ตอนนี้รถต้องวิ่งอ้อมภูเขา ซึ่งใช้เวลาเดินทางเกือบ 1 วัน และต้องเปลี่ยนจากรถเทรลเลอร์เป็นรถบรรทุก 6 ล้อ 4-5 คัน ขนส่งไปแทน ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น 4-5 เท่าตัว

ขณะที่ค่าขนส่งจากกอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยง ไปเมืองย่างกุ้ง หากในภาวะปกติรถเทรลเลอร์วิ่งลากตู้คอนเทนเนอร์ค่าขนส่งต่อเที่ยวประมาณ 20,000-40,000 บาท แต่ปัจจุบันการขนส่งสินค้าบางชนิดเพิ่มเป็น 100,000-200,000 บาท หรือแพงกว่านั้นมาก หากเป็นสินค้าชิ้นใหญ่และหนัก เช่น เม็ดพลาสติก แผงบอร์ดต่าง ๆ” นายเฉลิมวัฒน์กล่าว

ต้นทุนค่าขนส่งพุ่ง 4-5 เท่าตัว

นายเฉลิมวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ตามปกติเครือไทซันกรุ๊ปมีการนำเข้าสินค้าไปขายในเมียนมาผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ 1) สินค้าบางส่วนใช้วิธีการซื้อภายในเมืองย่างกุ้งและกระจายไปขายยังเมืองต่าง ๆ ในเมียนมา 2) ซื้อสินค้าจากในประเทศไทยขายเข้าไปในเมียนมา และ 3) คนจากตัวเมืองชั้นในของเมียนมาเข้ามาซื้อสินค้าในไทย ซึ่งในส่วนนี้ “ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน”

สาเหตุไม่ได้เกิดจากการสงครามที่ปะทะกัน แต่เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลทหารตั้งแต่เมื่อประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา ที่บังคับให้เงินที่จ่ายซื้อขายสินค้าต้องส่งผ่านระบบธนาคารที่ทางรัฐบาลเมียนมาให้การรับรองและเพิ่มกระบวนการในการนำเข้าสินค้า ทั้งหมดทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้น แต่ต้นทุนที่สูงมากตอนนี้จะเป็นเรื่องการขนส่งเป็นหลัก

“หากพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวในการค้าขายชายแดนไทย-เมียนมา ตนอยากเสนอให้รัฐบาลไทยประกาศให้ทั้ง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็น เขตประกอบการเสรี (Free Trade Zone) ทั้งหมด จะทำให้สินค้าไทยและสินค้าผ่านแดนจากประเทศที่สาม ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทที่ไปเก็บไว้ในโกดังที่เมืองเมียวดี จะย้ายกลับมาอยู่ที่อำเภอแม่สอดทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจแม่สอดเติบโตขึ้นอีกมาก” นายเฉลิมวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าไทยได้นำสินค้าเข้าไปเก็บไว้ในโกดังที่เมืองเมียวดี มีมูลค่านับ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากเมืองเมียวดี ถูกประกาศให้เป็น เขตประกอบการค้าเสรี (Free Trade Zone) สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองเมียวดีที่กระจายสินค้าออกไปในเมียนมา ส่งสินค้าออกไปกระจายในเมียนมา ทำให้เมืองเมียวดีเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ขณะที่อำเภอแม่สอด มีโกดังเก็บสินค้าของผู้ประกอบการบางส่วนที่ขอเป็น Free Trade Zone อยู่อย่างกระจัดกระจาย ฉะนั้นสินค้าของไทยทั้งหมดจะนำไปถูกกองไว้ที่เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเขต Free Trade Zone ทำให้มีธุรกิจโกดังสินค้าเกิดขึ้นเต็มไปหมด และสินค้าไทยเวลาส่งเข้าเมียนมาออกจาก Free Trade Zone ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้านำสินค้ามาพักที่โกดังสินค้าที่ อ.แม่สอด จะต้องเสีย VAT ส่งออก ต้องทำเรื่อง Declare VAT ทีหลัง ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการน้อยมากที่จะพักสินค้าที่แม่สอด หรือถ้าจะพัก เลือกพักโกดังที่กำหนดเป็นฟรีเทรดโซนเท่านั้น

“ตรงนี้ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส รัฐบาลควรประกาศให้ แม่สอด เป็นเขต Free Trade Zone ทั้งหมด ยิ่งตอนนี้ถือเป็นโอกาสอย่างมาก เพราะผู้ประกอบการสินค้าไทยไม่มีใครนำสินค้าไปพักในเมียวดี แม้ราคาถูก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเสียหายจากการปะทะกัน แต่หากนำสินค้ามาพักที่แม่สอดตอนนี้ปลอดภัย แต่มีราคาสูง ถ้านโยบายรัฐบาลไทยประกาศทั้งอำเภอแม่สอด เป็นเขต Free Trade Zone สินค้าไทยทั้งหมดปลอดภัยและถูก ผมเชื่อว่าสินค้าทั้งหมด ทั้งสินค้าไทยและสินค้าผ่านแดนที่เมียวดี จะย้ายกลับมา อ.แม่สอด แน่นอน” นายเฉลิมวัฒน์กล่าว

น้ำมันดีเซลเสนอเขตปลอดสงครามส่งออกสูงสุด

รายงานจากด่านศุลกากรแม่สอดแจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66-29 ก.พ. 67 มูลค่าการค้าชายแดนของด่านศุลกากรแม่สอดรวม 86,099.21 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 224,266.84 ล้านบาท หรือลดลง 138,167.63 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออก 42,047.43 ล้านบาท

สินค้าส่งออกสูงสุด คือ น้ำมันดีเซล 1) 1,632.31 ล้านบาท 2) โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ 1,484.62 ล้านบาท และ 3) น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 1,386.01 ล้านบาท สำหรับมูลค่าการนำเข้า 3,884.61 ล้านบาท สินค้านำเข้าสูงสุด คือ 1) แร่พลวง (คลังทัณฑ์บน) 1,055.66 ล้านบาท 2) พริกแห้ง (FORM D) 768.61 ล้านบาท 3) พลวงที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) 472.91 ล้านบาท

ส่วนรายงานจากข้อมูลศูนย์ส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก ได้สรุปสภาวะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประจำเดือนมีนาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการค้ารวม 8,661.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว (กุมภาพันธ์ 2567) 589.61 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้วลดลง (มีนาคม 2566 ) 2,592.01 ล้านบาท

ด้านมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,680.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 583.15 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (มีนาคม 2566) ลดลง 1,923.07 ล้านบาท เป็นการส่งออก ณ ช่องทางอนุมัติของด่านศุลกากรแม่สอด

เดือนมีนาคม 2567 มีสินค้าส่งออกสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ น้ำมันดีเซล, เม็ดพลาสติก, โทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์, น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม, น้ำมันเบนซิน, รถจักรยานยนต์, ซอสปรุงรส, โลชั่นบำรุงผิว และผ้าพิมพ์ฝ้าย 100%