เปิดแผน FTA ไตรมาส 2 ไทยเร่งเครื่อง 7 ฉบับ โชว์นักลงทุน

shipping

ความท้าทายจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง “จีดีพีไทย” อาจจะขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียน หลายประเทศทั่วโลกกำลังถูกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แล้วอนาคตการค้าระหว่างประเทศไทยควรมุ่งไปทิศทางใด

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตตามเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการสร้างการรับรู้และการใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก รวมไปถึงเกษตรกร ชุมชน เป็นต้น จะต้องรับมือ เพราะนอกจากใช้การใช้ประโยชน์ ผลกระทบก็มีด้วยเช่นกันที่ต้องเตรียมรับมือ

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

โดยขณะนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ทั้งการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA การจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มการมีส่วนร่วม FTA ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล FTA Center ด้วย

การใช้ FTA เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA ที่บังคับใช้แล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกง และอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา บรูไน เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และล่าสุดไทยเพิ่งจะลงนามความตลง FTA ไทย-ศรีลังกา เป็นฉบับที่ 15

ซึ่งเมื่อดูสัดส่วนการใช้ประโยชน์จาก FTA ของไทยจะเห็นชัดว่า ปี 2563 สัดส่วนการใช้ FTA ของไทยอยู่ที่ 76.53% และปี 2564 สัดส่วนการใช้อยู่ที่ 78.17% ปี 2565 สัดส่วนการใช้อยู่ที่ 82.11% และปี 2566 สัดส่วนการใช้อยู่ที่ 82.31% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุก ๆ ปี

เร่งเจรจา FTA ฉบับใหม่

สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับไทย ขณะนี้มีหลายประเทศ อาทิ ข้อตกลงการค้าเขตการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (ไทย-EFTA), FTA ไทย-สหภาพยุโรป, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement : EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี (FTA ไทย-เกาหลีใต้), FTA อาเซียน-แคนาดา, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) ระหว่างไทยกับ UAE (FTA ไทย-UAE), ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน

ส่วนการเปิดเจรจา FTA กรอบใหม่ประกอบไปด้วย FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ที่เจรจายกระดับเสร็จแล้ว และยังมี FTA ที่จะยกระดับ FTA เพิ่มอีก 5 ฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-เปรู อาเซียน (สินค้า) FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-อินเดีย และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ นอกจากนี้ ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันจะเดินหน้าเร่งสรุปเจรจา FTA ให้ประสบผลสำเร็จอีกหลายฉบับด้วย

Q2 เดินหน้า 7 ฉบับ

โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำหนดไทม์ไลน์ แผนการประชุมการเจรจา FTA ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567 ในเดือนเมษายน 2567 ไทยเตรียมเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) รอบที่ 9 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2567 และการประชุมเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) รอบที่ 6 กำหนดจัดประชุมวันที่ 22-26 เมษายน 2567 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์

ถัดไปในเดือนพฤษภาคม 2567 มีแผนเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ และไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร (JETCO) (ระดับรัฐมนตรี) กำหนดจัดประชุมวันที่ 31 พฤษภาคม 2567

ขณะที่เดือนมิถุนายน 2567 มีแผนเจรจา FTA 3 ฉบับ ได้แก่ 1.การประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุนไทย-จีน ครั้งที่ 3 (ระดับรมช.พณ.) ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 ณ ประเทศไทย 2.FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) EU จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-21 มิถุนายน 2567 ที่ประเทศเบลเยียม

3.EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลีแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการเจรจาจัดทำ EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นตั้งเป้าเริ่มการเจรจารอบแรกในช่วงกลางปี 2567

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบกันแล้ว ไทยยังมีจำนวน FTA ที่บังคับใช้แล้วน้อยกว่า “เวียดนาม” คู่แข่งในอาเซียนที่ทำไปแล้วกว่า 50 ฉบับ จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ภาครัฐเร่งเครื่องเปิดเจรจา FTA อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแต้มในการแข่งขัน เพราะ FTA นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติจะใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกว่าจะมาปักหมุดลงทุนที่ไทยหรือจะย้ายไปเวียดนาม