ประธานพร พรประภา ทายาทรุ่น 3 สยามกลการ เลดี้ CEO ผู้ปลุกปั้น BYD

ประธานพร พรประภา
ประธานพร พรประภา
ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง, ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่
ช่างภาพ : สุวัฑ แซงลาด, ชินวัฒ สมหวัง

ย้อนกลับไปปี 2495 ตระกูล “พรประภา” เริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำเข้ารถยนต์ “ดัทสัน” หรือ “นิสสัน” ในปัจจุบัน กลุ่มสยามกลการ ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ ณ เวลานั้น ก่อนจะเป็นดีลเลอร์ เมื่อบริษัทแม่นิสสันเข้ามาทำตลาดเองในประเทศไทย ผ่านไปหลายทศวรรษ ทายาทรุ่น 3 กลับมาปลุกชีพทวงบัลลังก์ในวงการยานยนต์อีกครั้ง ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า BYD ปีที่ผ่านทำยอดขายได้มากถึง 30,432 คัน มียอดจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2567 ทะลุที่ 10,047 คัน ครองอันดับ 1 ในบรรดารถอีวีทั้งหมด

ถ้าไม่ใช่ BYD คงไม่กลับสู่ธุรกิจยานยนต์

“ประธานพร พรประภา” ชื่อเล่นว่า เอ็ม เป็นทายาทรุ่น 3 ของตระกูล และเป็นลูกสาวคนที่ 2 ของ “พรพินิจ พรประภา” ผู้บริหารธุรกิจอาณาจักรแสนล้าน “สยามกลการ” ล่าสุด เธอร่วมกับพี่ชายคนโต “ประธานวงศ์ พรประภา” ปลุกปั้นเรเว่ ออโตโมทีฟ ตัวแทนขายรถอีวี BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ถือเป็นเลดี้ CEO ที่มีหลักคิดและแนวบริหารธุรกิจที่น่าสนใจ

เธอเล่าให้ทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ตอนอายุ 22 ปี เรียนจบจากสวิตเซอร์แลนด์ คุณพ่ออยากให้ทำอสังหาริมทรัพย์ ตอนนั้นไฟแรงมาก อยากกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน จึงเริ่มจากบริหารโรงแรมสยามแอทสยาม แต่เมื่อถึงวัย 30 ก็รู้ว่าไม่ได้ชอบอสังหาฯ จึงตัดสินใจบอกที่บ้านว่า จะไม่ทำธุรกิจครอบครัวแล้ว ก่อนหันไปเซตอัพบริษัทด้าน Investment ขึ้นมา

“แต่ละคนเหมาะกับงานคนละแบบ รู้สึกว่า Real Estate ไม่ใช่เอ็ม ตอนนั้นเอ็มช่วยคุณพ่อด้วย คุณพ่ออยากเกษียณเต็มที จบมาได้ไม่นานคุณพ่อก็เกษียณ”

Advertisment

เมื่อทำบริษัทการลงทุนไปสักพัก ตอนอายุ 34 ปี ไปพบเรื่อง “Clean Energy” และเริ่มได้ยินเรื่องราวของ BYD มาเรื่อย ๆ ถือเป็นช่วงที่ใกล้ชิดกับตลาด Clean Energy มาก จนได้มาเจรจาธุรกิจกับ BYD ช่วงโควิด-19 พอดี

“โชคเป็นยังไงไม่รู้ ตอนนั้นคุยกับพี่พก จบที่ทำ BYD ด้วยกัน เรามองว่า Passenger Vehicle น่าจะเป็นอะไรที่ดีสำหรับประเทศไทย แล้วเรเว่ออโตโมทีฟก็ถูกเซตอัพขึ้น ที่สำคัญ BYD เป็นแบรนด์หลักของกลุ่ม BYD ที่จีน เอ็มกับพี่พกพูดกันตั้งแต่แรกแล้วว่า

ถ้าไม่ใช่ BYD เราไม่ทำ พอเอ็มอยู่ใน Clean Energy เรารู้ว่าเทคโนโลยีของ BYD เป็นอย่างไร เซฟตี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ถ้าไม่ใช่ BYD เราคงไม่ได้กลับมาในธุรกิจยานยนต์ โชคดีด้วยที่เขาเลือกเรา”

Advertisment

เหตุผลที่ BYD เลือกเรเว่ฯ เธอบอกว่า อาจเป็นเพราะวิธีการมองตลาดของเราด้วย ช่วงโควิดเราประชุมกับ BYD ทุกสัปดาห์ BYD มองว่า เมืองไทยเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่เรามองว่า รถอีวีไม่ใช่สิ่งที่หลายคนมองไว้ก่อนหน้านี้ แต่เราเชื่อว่า “วันหนึ่งรถอีวีจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”

ต่างกับหลาย ๆ คนตอนนั้นที่มองว่า รถอีวีน่าจะค่อย ๆ เติบโต 10% ต่อปี และไม่ใช่สิ่งใกล้ตัว

“เรามองอีวีว่าจะมีบทบาทสำคัญมากในตลาดรถยนต์ เราค่อนข้าง Aggressive กับ Vision ตัวเอง อาจเป็นเพราะเรามองตรงกันว่า อีวีกำลังจะเกิดขึ้น แล้วเราก็เป็นสองคนที่มองตรงกันว่า มันมาแน่และมาเร็วด้วย”

Beauty of Thai Market

หลังเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2565 ด้วยเป้าหมาย 2,000 คัน กลายเป็นว่า ต้องขยับเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 คัน 7,000 คัน และ 10,000 คันในเวลาที่รวดเร็ว เพราะเปิดตัวได้เพียงเดือนเศษ BYD ทำยอดขายและจองได้ถึง 10,000 คัน

บริษัทเรเว่ฯก็ต้องขยับตัวเร็วไปด้วย โดยยืดหยุ่นกับตลาด และปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจมากพอสมควรในปีแรกที่เริ่มขาย BYD ATTO 3 เพราะยอดจองมาเร็วมาก BYD ที่จีนเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีกับเรามาก ขยับตัวเร็วมากเช่นกัน เมื่อยอดจองเข้ามาเยอะฝั่งจีนก็ซัพพลายรถให้เราได้ทันที ทำให้เราส่งมอบรถได้มากกว่า 5,000 คันก่อนสิ้นปี 2565 ถือว่า เรามีพาร์ตเนอร์ที่ดี และตื่นเต้นกับโอกาสในตลาดประเทศไทย ที่เชื่อมั่นในโปรดักต์เหมือนกัน

การตอบสนองต่อตลาดสำคัญมาก โดยเฉพาะปีแรก ตลาดในไทยมีเอกลักษณ์ เมื่อขายรถออกไป สิ่งที่ดีใจคือ ทุกคนมีโลกของตัวเองที่คุยเกี่ยวกับรถอีวีโดยเฉพาะ จากที่คนคิดว่าอีวีเป็นสิ่งที่ยาก กลัวขับไปแล้วแบตหมด ชาร์จยังไง แต่เมื่อรถออกสู่ตลาด กลายเป็นว่าลูกค้าคุยกันเอง การขับรถอีวีง่าย แล้วแชร์ว่าข้อดีของรถคืออะไร ลูกค้าสื่อสารแทนเราได้หมด ทำให้คนไทยรู้ว่า “ที่จริงแล้วรถอีวีไม่ได้ใช้ยาก แต่สะดวกด้วยซ้ำ”

“เข้าไปอ่านในกลุ่มตามเฟซบุ๊ก มีแชร์กันว่า ประหยัดได้เท่าไรตั้งแต่มีรถบีวายดี เอ็มว่าเป็น Beauty of Thai Market มาก”

ทีมสปินเตอร์ วัฒนธรรมองค์กรคนรุ่นใหม่

ด้วยความที่ เรเว่ ออโตโมทีฟ ถูกเซตอัพขึ้นใหม่ จึงมาพร้อมกับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ และพนักงานที่เติบโตมาพร้อมกัน จึงถูกนิยามว่าเป็น “ทีมสปินเตอร์” ที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตลอด เป็นโอกาสได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากการพยายามคิดนอกกรอบ ทำให้เรเว่ฯไม่ค่อยเหมือนบริษัทอื่น แม้ช่วงเริ่มต้นจะมีแค่เธอกับพี่ชาย แต่ตอนนี้เฉพาะฝั่งยานยนต์มีพนักงานกว่าร้อยชีวิตแล้ว

สำหรับสไตล์การบริหารนั้น ประธานพรบอกว่า ตัวเธอเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดรับ และไม่ต้องคอยกระตุ้นให้ทีมงานแสดงความคิดเห็น เพราะทุกคนค่อนข้างแลกเปลี่ยนกันอยู่แล้ว เมื่อเข้าห้องประชุม เอ็มไม่เคยเป็นคนเดียวที่พูด “ที่เรเว่ฯเราคิดกันหลายหัว และมีทัศนคติว่า ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ หลายอย่างที่เราทำก็จะไม่ค่อยทำตามคนอื่น”

ลดคาร์บอนคือแพสชั่น

คงเป็นเรื่องยาก ถ้าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันตรงกับความฝันในวัยเด็กเป๊ะ ๆ เธอเผยว่า ไม่ได้คิดว่าโตมาจะต้องทำงานด้านยานยนต์ แค่รู้ว่าต้องการทำอะไรที่เป็นอิมแพ็กต์มาตั้งแต่เด็ก เพราะเห็นความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมาตั้งแต่วัยรุ่น

ยอมรับว่าเมืองไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เห็นตั้งแต่สมัยเรียน การสร้างสรรค์เศรษฐกิจหมุนเวียน Green Ecosystem จึงเป็นสิ่งที่ฝันไว้ว่า จะต้องทำ และมากกว่าคำว่าใช่ เพราะเรากำลังพยายามสร้าง New Economy ในประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Green Energy ทั้งหมด โดยเริ่มจากยานยนต์ก่อน

การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวรถอีวีในประเทศนั้นเราภูมิใจมาก เพราะเรา Believe in Product ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องยานยนต์ แต่คือการปรับเปลี่ยน Ecosystem ของเมืองไทยเลย ดังนั้นรถอีวีและการลดคาร์บอนในประเทศจึงเป็นแพสชั่นที่ต้องการที่อยากจะทำจริง ๆ เราภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวันนี้

คุณพ่อคือไอดอล

เมื่อถามว่า ใครเป็นคนต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า คุณพ่อพรพินิจ พรประภา เป็นต้นแบบ เพราะคุณพ่อพาเข้าที่ประชุมตั้งแต่อายุ 17 ปี ทำให้ชินกับธุรกิจมาตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อเรียนจบ คุณพ่อก็ปล่อยให้เราลุยเอง เป็น “Learning by Doing” ทำให้ลูกทั้งสี่เป็นคนที่สู้งาน จนกระทั่งอายุ 25 ปี คุณพ่อก็เกษียณ

สมัยคุณปู่ (ดร.ถาวร พรประภา) และคุณพ่อ ถือเป็นยุคที่สยามกลการรุ่งเรืองในธุรกิจยานยนต์ เมื่อก่อนเราก็เติบโตในตึกสยามมอเตอร์ ทำให้มีความเกี่ยวข้องกับรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนเริ่มทำธุรกิจคุณพ่อก็เกษียณแล้วหลายปี

“ถ้าถามว่าใครเป็นไอดอลก็คือคุณพ่อ คุณพ่อมีวิธีการพูดที่ขลัง จนถึงวันนี้เอ็มยังไม่ถึงระดับคุณพ่อเลย ท่านพูดน้อย แต่พูดที ทุกคนจะได้ยิน คุณพ่อเป็นคนน่ารัก ไม่ค่อยดุ”

ครอบครัวน่ารัก-อบอุ่น

กล่าวถึง “กลุ่มสยามกลการ” ภายใต้การบริหารของตระกูล “พรประภา” ที่สืบทอดธุรกิจมาจากรุ่นแรก คือ ดร.ถาวร พรประภา ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมหนักที่โด่งดังในอดีต สามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่มหลายแสนล้าน โดยมีพื้นฐานธุรกิจแรกเริ่มมาจากธุรกิจค้าของเก่า ในชื่อ “ตั้งท่งฮวด” ในเซียงกงใกล้โรงภาพยนตร์โอเดียนในย่านไชน่าทาวน์

“พรพินิจ พรประภา” (คุณพ่อของคุณเอ็ม) เป็นทายาทรุ่นที่ 2 มีพี่น้องต่างมารดารวม 13 คน ได้แก่ พรพิมล, พรศักดิ์, พรทิวา, พรทิพย์, พรเทพ, พรพินิจ, พรเนตร, พรพงษ์, พรสรรค์, พรพรรณ, พรนิสา, พรชลิต และพรพิมพ์

ซึ่งพี่น้องทั้ง 13 คน มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “พร” ทั้งหมด

ขณะที่เจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูล จะมีชื่อขึ้นต้นด้วย “ประ”

ส่วนทายาทรุ่นที่ 4 จะชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ภา”

ด้านชีวิตสมรส พรพินิจ พรประภา แต่งงานกับ “กีรติการ พรประภา” มีบุตร-ธิดา รวม 4 คน ได้แก่ ประธานวงศ์ (พก) ประธานและซีอีโอ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อบีวายดี แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ประธานพร (เอ็ม), ประณัย (นัย) แฟนหนุ่มของดาราสาว “แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์” และประคุณ (เช้า) น้องสุดท้องของทายาทสายนี้

ข่าวการจากไปอย่างสงบของพรพินิจ พรประภา คุณพ่อของลูก ๆ ทั้ง 4 คน เมื่อปี 2566 สร้างความโศกเศร้าให้กับทายาทอย่างสุดแสน ซึ่งทุกคนให้สัญญาใจจะรักสมานกลมเกลียวเป็นครอบครัวอบอุ่น และมุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยความเพียร เพื่อต่อยอดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าต่อไป โดยเชื่อมธุรกิจสู่โลกใบใหม่ สมกับความภาคภูมิใจที่คุณพ่อปลูกฝังลูก ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ