“เคเอฟซี-แมคโดนัลด์-ชาบู” เข้าเกณฑ์ หลังครม.ไฟเขียวดิจิทัลวอลเลต

digital

“นายกฯ” ขนพรรคร่วม เรียงแถวการันตีเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยันไตรมาส 4 เงินเข้ากระเป๋าประชาชน แจงถาม “กฤษฎีกา” อำนาจหน้าที่ ธ.ก.ส. “จุลพันธ์” ชี้ร้านฟาสต์ฟู้ดเข้าร่วมได้หมด “เคเอฟซี-แมคโดนัลด์-สุกี้เชนใหญ่-ร้านขายเฟอร์นิเจอร์นอกห้าง” ยัน ธ.ก.ส.มีสภาพคล่อง-ความมั่นคงสูง พร้อมเล็งเพิ่มทุนเสริมแกร่งให้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยนายเศรษฐากล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน และเห็นชอบหลักการของกรอบหลักการ โครงการ ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางการเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงิน การดำเนินโครงการ ซึ่งทางกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป

ส่วนข้อห่วงใยใด ๆ เช่น ประเด็นอำนาจ หน้าที่ของ ธ.ก.ส. ได้สั่งการว่าหากมีข้อสงสัยใด ๆ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการโครงการดังกล่าว

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังเคาะวันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบด้วย แต่ยังยืนยันการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในไตรมาส 3 และใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4

Advertisment

เมื่อถามว่า การใช้เงิน ธ.ก.ส. จะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า นายกฯไม่ได้กำหนดประเด็น แต่สั่งการว่าหากมีข้อสงสัยประเด็นใดก็ตาม ที่เป็นเรื่องข้อกฎหมายให้ส่งกฤษฎีกาในการวินิจฉัย แต่เรื่องการนำเงิน ธ.ก.ส.ไปใช้นั้น ตนให้ข่าวไปหลายครั้งว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. และดูรายละเอียดแล้ว และมีความมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่ถ้าให้เกิดความกระจ่างชัดก็พร้อมจะถามไปยังกฤษฎีกา

นายจุลพันธ์กล่าวด้วยว่า การที่สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.เข้าพบ และอยากให้รัฐบาลชี้แจงสภาพคล่องนั้น ตนได้ชี้แจงกับสหภาพ ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันดี และสหภาพก็พร้อมจะเดินหน้าโครงการนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ทั้งนี้ สิ่งที่สหภาพเป็นห่วงที่สุดคืออำนาจหน้าที่ ซึ่งมติ ครม.จะส่งไปสอบถามกฤษฎีกาให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ

“สภาพคล่องของ ธ.ก.ส.นั้นมีความมั่นคง และรัฐบาลถือหุ้น 100% เรามีแต่เสริมความแข็งแกร่งให้ ธ.ก.ส. สิ่งที่ผมได้ชี้แจงกับสหภาพ 3 ประเด็น 1.การดำเนินการตามนโยบายจะต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายทุกประการ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. หากมีข้อสงสัย รัฐบาลยินดีให้ความกระจ่างชัด โดยถามไปยังกฤษฎีกา

2.เสถียรภาพของ ธ.ก.ส.มีความมั่นคงสูง โครงการนี้อยู่ในศักยภาพที่ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรก็ตาม จะมีแต่เสริมความแข็งแกร่ง เพราะ ธ.ก.ส.เป็นปีกหลักปีกหนึ่งในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร 3.สิ่งที่ดำเนินโครงการจะไม่กระทบสวัสดิการของลูกจ้าง ธ.ก.ส.โดยเด็ดขาด”

Advertisment

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส.หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกัน เวลาเติมทุนให้กับธนาคารในกำกับของรัฐ เติม 1 บาท จะเกิดวงเงินสินเชื่อให้เกษตรกร 11 บาท ดังนั้น เป็นการเติมความแข็งแกร่งอย่างหนึ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ หรือเมื่อไหร่ ขอประชุมอีก 1-2 ครั้ง จึงจะได้ข้อสรุป

ส่วนการกำหนดนิยามร้านค้าขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าโครงการได้นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า นอกจากร้านค้าที่ประชาชนใช้ได้ อย่างร้านค้าทั่วไปในชุมชน ร้านของชำ ก๋วยเตี๋ยว มินิมาร์ตชุมชน ยังรวมถึงร้านสะดวกซื้อในลักษณะ เช่น 7-Eleven, Lawson 108, CJ Express, Mini Big C, Lotus’s Go Fresh แล้ว ยังสามารถใช้ได้ในร้านอาหารจานด่วน พวกฟาสต์ฟู้ด อาทิ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ หรือแม้กระทั่งร้านสุกี้ที่เป็นเชนใหญ่, ร้านชาบู, ร้านอาหารบุฟเฟต์ด้วย

ส่วนร้านนอกห้าง เช่น ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ร้านเสื้อผ้า ก็สามารถใช้ได้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของร้านมือถือ อุปกรณ์ไอที ในขณะนี้ยังกำหนดให้ไม่สามารถซื้อได้ โดยจะมีการกำหนดรูปแบบสินค้าที่จะซื้อได้ในโครงการอีกที

“ส่วนกรณีร้านค้าขนาดเล็ก ไม่อยู่ในระบบภาษี ตัดสินใจไม่เข้าโครงการกับเงินดิจิทัลอย่างไร เพราะเคยมีตัวอย่างกรณี ‘คนละครึ่ง’ ที่มีหลายร้านถอนตัวภายหลัง เนื่องจากถูกตรวจภาษี ซึ่งทราบว่าร้านค้าไม่ได้เตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบ พอปรากฏว่ามีรายได้มากขึ้นเกินกว่ากฎหมายกําหนด 1.8 ล้านบาท โดนตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และไม่ได้เก็บหลักฐานไว้

ยืนยันว่าในกระบวนการนี้จะทำให้เศรษฐกิจบูมแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าร้านค้าเข้าสู่ระบบ ก็เก็บหลักฐานที่เป็นต้นทุนการผลิตแทนได้ เมื่อมีสลิปของการไปซื้อปัจจัยการผลิต ในส่วนนี้หักภาษีย้อนหลังได้ พอถึงเวลาก็จะไม่เป็นภาระภาษีแน่นอน”

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า ในด้านแอปพลิเคชั่นไม่มีปัญหาอะไร โดยแบ่งเป็น 2 ระบบ 1.คือระบบลงทะเบียน 2.ระบบ Transaction ซึ่งทั้ง 2 ระบบมีการพัฒนาอยู่ในกรอบที่วางไว้ และจะเปิดให้มีการลงทะเบียนร่วมโครงการในไตรมาส 3 และใช้เงินในไตรมาส 4 ทั้งนี้ จะเป็นลักษณะ Open Loop เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ