แบงก์กำไร Q1 โตดี ดอกเบี้ย กนง. “ลดช้า” หนุน NIM

Bank profit

ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง รายงานงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับงวดไตรมาส 1/2567 กันออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ภาพกำไรยังคงเติบโต ขณะเดียวกันการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพแม้จะลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังเห็นการขยับเพิ่มขึ้น

6 แบงก์กำไรโต 3 หมื่นล้าน

โดยจากการรวบรวมข้อมูลที่รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯของแบงก์ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) พบว่า มีกำไรในไตรมาส 1/2567 รวมกันที่ 30,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.82%

เมื่อเทียบไตรมาสก่อน (QOQ) และเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ซึ่งแบงก์ที่มีกำไรสูงสุด คือ SCB มีกำไรสุทธิที่ 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% QOQ และเพิ่มขึ้น 2.6% YOY

ขณะที่ BBL มีกำไรสุทธิ 10,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.74% QOQ และ เพิ่ม 3.9% YOY ด้าน ttb มีกำไรสุทธิ 5,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.62% QOQ และเพิ่ม 24.19% YOY

2 แบงก์ใหญ่ตั้งสำรองสูง

ขณะเดียวกัน 6 แบงก์ดังกล่าว มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 25,315 ล้านบาท ลดลง 10.20% QOQ แต่เพิ่มขึ้น 4.01% YOY โดยแบงก์ที่ตั้งสำรองสูงสุด ก็คือ SCB จำนวน 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.34% QOQ และเพิ่มขึ้น 2.76% YOY ขณะที่ BBL ตั้งสำรอง 8,582 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 16.87% QOQ และเพิ่มขึ้น 1.27% YOY ในขณะที่ ttb ตั้งสำรอง 5,117 ล้านบาท ลดลง 45.13% QOQ แต่เพิ่มขึ้น 19.67% YOY

ส่วนเอ็นพีแอลรวมทั้ง 6 แบงก์ อยู่ที่ 216,663 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.68% QOQ ซึ่งแบงก์ใหญ่อย่าง BBL และ SCB ยังคงมีเอ็นพีแอลเกินกว่า 90,000 ล้านบาท โดย BBL มีเอ็นพีแอล 93,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% QOQ แต่ลดลง 4.48% YOY ด้าน SCB มีเอ็นพีแอล 95,236 ล้านบาท ลดลง 1.65% QOQ และเพิ่มขึ้น 0.09% YOY

จับตาดอกเบี้ย กนง.

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2567 นี้ จะเห็นว่าหลายธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ชะลอตัวลดลง เนื่องจากต้นทุนในด้านเงินฝากทยอยปรับขึ้นตามมา

ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้เริ่มทรงตัว ส่งผลให้ NIM เลยจุดสูงสุด (พีก) มาตั้งแต่ปลายปีก่อน และเริ่มมีสัญญาณลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 และจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นหากทิศทางดอกเบี้ยในประเทศเริ่มเป็นทิศทางขาลง ซึ่งต้องรอติดตามผลการประชุม กนง.ต่อไป

กำไรแบงก์

ขณะที่จะเห็นการตั้งสำรองค่อนข้างสูงในช่วงไตรมาส 4/2566 และยังสูงต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/2567 แม้ว่าจะชะลอลง แต่ยังคงเป็นอัตราที่สูงกว่าช่วงปกติ และหากมองในช่วงที่เหลือของปี 2567 เศรษฐกิจยังไม่ได้อยู่ในจังหวะการฟื้นตัวมาก

ทำให้ธนาคารยังคงต้องตั้งการ์ดสูงในการตุนสำรองหนี้ไว้ในระดับสูง สอดคล้องกับตัวเลขเอ็นพีแอล ที่ยังขยับเพิ่มขึ้น สูงกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม จากแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เชื่อว่าธนาคารสามารถรับมือและบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อได้

“ผลประกอบการไตรมาสแรกที่ออกมา หลายธนาคารยังคงมีประเด็นที่ต้องบริหารจัดการต่อเนื่องในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อที่ต้องดูแล ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยไม่ได้มาเยอะแบบปีก่อนแล้ว และเริ่มเจอต้นทุนจากเงินฝากไล่หลังมา ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมก็ยังต้องอาศัยจังหวะของเศรษฐกิจ ทำให้ภาพการประคองรายได้หลัก ก็ยาก และยังต้องดูแลคุณภาพสินเชื่อ ทำให้ธนาคารยังต้องตั้งการ์ดสูงตุนสำรองไว้อยู่”

ดอกเบี้ยลดช้าหนุน NIM

ด้าน นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คาดการณ์กำไรแบงก์ 7 แห่ง งวดไตรมาส 1/2567 จะอยู่ที่ 51,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบจากไตรมาส 4/2566 และเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบจากไตรมาส 1/2566 โดยในส่วนแบงก์ที่ประกาศงบออกมาแล้ว อย่าง BBL, KKP, TISCO ในภาพรวมมีกำไรออกมาค่อนข้างเป็นไปตามคาด แต่รายการตั้งสำรองค่อนข้างเป็น Negative Surprise ทั้งนี้ คงเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละแบงก์

โดย TISCO มีการปรับนโยบายการตั้งสำรองให้สอดคล้องกับพอร์ตสินเชื่อที่ไปทางกลุ่มให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) มากขึ้น และ BBL อาจจะเป็นการตั้งสำรองที่เกี่ยวกับลูกหนี้รายใหญ่ในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ส่วน KKP ถือว่าออกมาค่อนข้างดีกว่าคาด เพราะมีการลดการตั้งสำรองลงมาค่อนข้างมาก เพราะเร่งตั้งสำรองสำหรับตัวของลูกหนี้รายใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 4/2566 จึงส่งผลให้การฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี

ขณะที่คาดว่าจะท็อปฟอร์มในกลุ่ม คือธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่จะประกาศงบคืนวันที่ 19 เม.ย. โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 10,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.2% QOQ และเพิ่มขึ้น 8.2% YOY ประเมินการตั้งสำรองลดลง เพราะ KTB ตั้งสำรองผลกระทบ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ไปหมดแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 จึงหนุนกำไรฟื้นสู่ระดับปกติ จากฐานต่ำในไตรมาสก่อนหน้า

“แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ตอนนี้ดูเหมือนจะปรับลดลงได้ช้ากว่าที่ตลาดประเมิน จากเงินเฟ้อสหรัฐที่ลดลงช้า และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย กดดันให้ทุกประเทศคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวเป็นผลบวกกับกลุ่มแบงก์ที่ NIM ยังไม่ลดลงเร็วมาก ยังหนุนกำไรอยู่ได้” นายตฤณกล่าว